ธนาคารโลกได้ดำเนินการศึกษาการบังคับใช้พระราชบัญญัติหลักประกันทางธุรกิจ พ.ศ. 2558 ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อยกระดับการเข้าถึงสินเชื่อ โดยพัฒนาการประเมิน การบริหารและกรบรรเทาความเสี่ยง และมีการจัดตั้งสํานักงานทะเบียนหลักประกันทางธุรกิจ ที่กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ เพื่อทำหน้าที่รับจดทะเบียน แก้ไขรายการจดทะเบียน และยกเลิกการจดทะเบียนสัญญาหลักประกันทางธุรกิจ ผลลัพธ์ที่ได้คือ มีการเริ่มใช้ระบบสิทธิในหลักประกันสมัยใหม่สำหรับสังหาริมทรัพย์ที่วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) สามารถนำมาใช้ค้ำประกันเงินกู้ได้ และจากสถิติของกรมพัฒนาธุรกิจการค้าแสดงถึงการเพิ่มขึ้นของจำนวนธุรกรรมและมูลค่าของงานทะเบียนหลักประกันทางธุรกิจที่เพิ่มขึ้นอย่างมาก โดยมียอดรวมคิดเป็นร้อยละ 43 ของยอดสินเชื่อทั้งหมดของระบบธนาคารพาณิชย์ หรือประมาณ 15 ล้านล้านบาท (ณ สิ้นเดือนเมษายน 2562) อย่างไรก็ดี พระราชบัญญัติดังกล่าวยังมีข้อจำกัด เช่น ยังคงจำกัดวงเฉพาะสถาบันการเงิน (Bank) เท่านั้น ยังไม่รวมเจ้าหนี้รายอื่น ๆ (Non-Bank) ซึ่งครอบคลุมสินทรัพย์ที่เป็นเงินสด สินค้าคงคลัง และบัญชีลูกหนี้ เป็นส่วนใหญ่ อีกทั้งยังเป็นเพียงการขยายระบบจำนองในระบบธนาคารและสถาบันการเงินเท่านั้น ซึ่งไม่เอื้อให้ SMEs เข้าถึงสินเชื่อได้ เนื่องจาก SMEs มีความเสี่ยงสูง นอกจากนี้ ระบบการจดทะเบียนสินทรัพย์ที่เป็นหลักประกันยังมีความหลากหลาย ทั้งทั้งแง่หน่วยงานรับจดทะเบียน และกฎหมายที่เกี่ยวข้อง กระบวนการบังคับหลักประกันภายใต้พราชบัญญัติยังมีความซับซ้อน
ธนาคารโลกยังให้ความเห็นเกี่ยวกับร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยสิทธิในหลักประกัน พ.ศ. … ที่ได้มีการดำเนินการในปี 2560 ว่าเป็นไปในทิศทางที่ถูกต้อง โดยต้องมีการเชื่อมระบบจดทะเบียนเข้าด้วยกันเป็นระบบเดียวและให้อยู่ภายใต้กฎหมายฉบับเดียว และเสนอแนวทางการดำเนินการต่อไป โดยให้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการ 3 ระดับ ได้แก่ (1) คณะกรรมการผู้บริหารระดับสูง เป็นผู้กำหนดวัตถุประสงค์ นโยบาย และตัดสินใจในนโยบายที่สำคัญต่อร่างพระราชบัญญัติดังกล่าว โดยผู้บริหารในคณะกรรมการควรประกอบด้วย ผู้แทนจากกระทรวงการคลัง ธนาคารแห่งประเทศไทย กระทรวงพาณิชย์ และกระทรวงยุติธรรม (2) คณะทำงานศึกษาและยกร่างกฎหมายเกี่ยวกับสิทธิในหลักประกัน ทำหน้าที่รวบรวมและนำเสนอข้อมูลจากหน่วยงานต่าง ๆ และบริหารกระบวนการร่างกฎหมาย รายงานต่อต่อคณะกรรมการผู้บริหารระดับสูง (3) คณะร่างพระราชบัญญัติ ประกอบด้วยผู้แทนจากกลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ซึ่งจะได้รับคำปรึกษาจากคณะทำงานฯ ในทุกขั้นตอนของกระบวนการ
ในการนี้ เลขาธิการ ก.พ.ร. ได้เน้นย้ำถึงความสำคัญและความจำเป็นในการปรับปรุงพระราชบัญญัติดังกล่าวตามแนวทางที่ธนาคารโลกเสนอ และจะได้ผลักดันการดำเนินการให้เกิดผลโดยเร็วต่อไป เพราะหากดำเนินการล่าช้าจะส่งผลเสียต่อ SMEs ในการเข้าถึงสินเชื่อเพื่อประกอบธุรกิจ และส่งผลต่อความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทยในการดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศโดยเฉพาะเมื่อเทียบกับกลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียน เช่น เมียนมาร์ เวียดนาม ลาว ที่มีการดำเนินการบนกฎหมายหลักประกันสมัยใหม่ที่เอื้อต่อการประกอบธุรกิจของ SMEs มากกว่า