เมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 2566 สำนักงาน ก.พ.ร. ได้จัดกิจกรรมเสวนา KM Online หัวข้อ “Traffy Fondue (ทราฟฟี่ ฟองดูว์) ยกระดับบริการตอบโจทย์บริหารเชิงพื้นที่” ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ (Facebook Live และ YouTube Live สำนักงาน ก.พ.ร.) มีนายไมตรี อินทุสุต เป็นประธานกล่าวเปิดงาน พร้อมด้วยผู้ทรงคุณวุฒิ ได้แก่ ดร.วสันต์ ภัทรอธิคม หัวหน้าทีมพัฒนา Traffy Fondue นายสันติธร ยิ้มละมัย ผู้ว่าราชการจังหวัดลำพูน นายแพทย์ชูชาติ นิจวัฒนา ผู้อำนวยการโรงพยาบาลฉลอง อ.เมืองฯ จังหวัดภูเก็ต และนายเทพพร จำปานวน นายกเทศมนตรีตำบลอาจสามารถ อำเภออาจสามารถ จังหวัดร้อยเอ็ดมาร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์ โดยมีผู้สนใจเข้าร่วมกิจกรรมเสวนาในครั้งนี้กว่า 2,000 คน ซึ่งมาจากหลายภาคส่วนทั้งภาครัฐ จังหวัด อำเภอ ท้องถิ่น รัฐวิสาหกิจ สถาบันการศึกษา ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม และผู้สนใจทั่วไป
สรุปประเด็นสาระน่ารู้ ดังนี้
- “Traffy Fondue” คือ แพลตฟอร์มบริหารจัดการปัญหาเมือง ซึ่งได้รับการพัฒนาโดยทีมนักวิจัยไทย เพื่อเป็นเครื่องมือในการรับแจ้งปัญหาของประชาชน บริหารจัดการ และติดตามการแก้ไขปัญหาได้ทุกที่ทุกเวลา และทันต่อเหตุการณ์ ซึ่งมีสถิติรับเรื่องร้องเรียนแล้วกว่า 300,000 เรื่อง โดยเฉพาะการจัดการสาธารณูปโภคและโครงสร้างพื้นฐาน ที่เป็นปัจจัยสำคัญในการดำรงชีพของประชาชน
- ปัจจุบันมีจังหวัดเข้าร่วมใช้งาน Traffy Fondue ในการรับแจ้งปัญหาของประชาชน แล้วจำนวน 10 จังหวัด ได้แก่ นครราชสีมา อุบลราชธานี ขอนแก่น พะเยา ลำพูน ปราจีนบุรี ภูเก็ต เพชรบูรณ์ สมุทรปราการ และสระบุรี
- ตัวอย่างการใช้ Traffy Fondue เพื่อการบริหารจัดการและแก้ไขปัญหาในพื้นที่
- จังหวัดลำพูน มีหน่วยงานกว่า 100 แห่ง ทั้งส่วนราชการภูมิภาค ส่วนราชการส่วนกลางในภูมิภาค และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ใช้ Traffy Fondue ในการแก้ไขปัญหาความเดือนร้อนของประชาชน เพื่อให้เกิดความถูกต้อง รวดเร็ว และประหยัดทรัพยากรในการทำงาน
- จังหวัดภูเก็ต การพัฒนาต่อยอดแพลตฟอร์ม Traffy Fondue ให้สามารถรองรับการใช้งานของนักท่องเที่ยวต่างชาติ มีสอดคล้องกับบริบทของพื้นที่จังหวัดภูเก็ต รวมถึงการประยุกต์ใช้เป็นเครื่องมือในการรายงานการกระทำผิดกฎจราจร และรายงานจุดเสี่ยงทางวิศวกรรมจราจร นอกจากนี้แล้ว เพื่อให้เกิดการใช้งานอย่างจริงจัง ผู้ว่าราชการได้มีนโยบายให้ทุกส่วนราชการและ อปท. ในจังหวัดศึกษาและใช้ประโยชน์จากแพลตฟอร์มดังกล่าว ซึ่งมีหน่วยงานเข้าร่วมแล้วกว่า 119 หน่วยงาน
- จังหวัดร้อยเอ็ด มีการนำร่องในเทศบาลตำบลอาจสามารถ เพื่อนำมาใช้ในการรับแจ้งปัญหาของประชาชนในระดับชุมชนแทนการเขียนใบคำร้อง ณ สถานที่ตั้ง ทำให้ลดความล่าช้าในการตอบสนองและแก้ไขปัญหาในชุมชนได้ โดยสรุป “Traffy Fondue” ถือว่าเป็นเทคโนโลยีดิจิทัลที่จะนำมาใช้เพื่อเชื่อมโยงและสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชนอย่างทั่วถึงและครอบคลุม เพื่อเป้าหมายให้ประชาชนได้รับการบริการภาครัฐที่รวดเร็วขึ้น สะดวกขึ้น และตรงใจขึ้น