สำนักงาน ก.พ.ร. ได้จัดประชุมหารือเกี่ยวกับการอำนวยความสะดวกในการประกอบธุรกิจ เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2564 เวลา 09.00 น. ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ โดยมีนางอารีย์พันธ์ เจริญสุข รองเลขาธิการ ก.พ.ร. นายณัฏฐา พาชัยยุทธ ผู้อำนวยการกองขับเคลื่อนรัฐบาลดิจิทัล และผู้แทนจากหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง จำนวน 5 หน่วยงาน เข้าร่วมการประชุมหารือ เพื่อร่วมกันหารือแนวทางการปรับปรุงสภาพแวดล้อมสำหรับการประกอบธุรกิจในประเทศไทยของธนาคารโลก (Doing Business) สรุปประเด็นสำคัญของการประชุมหารือ ดังนี้
– ด้านการได้รับสินเชื่อ เรื่องการเชื่อมโยงข้อมูลเครดิต
(ธนาคารแห่งประเทศไทย บริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด)
– ในรายงาน DB 2020 ประเทศไทยมีคะแนนด้านการได้รับสินเชื่อ 70 คะแนน และอยู่ในอันดับที่ 48 ซึ่งหากมีการปฏิรูปจะส่งผลกระทบอย่างรุนแรง (High Impact) ต่ออันดับรวมของประเทศไทยใน Ease of Doing Business
– ปัจจุบัน บริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด ได้นำ Sandbox มาใช้ในการเชื่อมโยงข้อมูล ทั้งนี้ การนำ Sandbox ไปสู่การนำไปปฏิบัติจริง จะต้องแก้ไขกฎหมาย พ.ร.บ. การประกอบธุรกิจข้อมูลเครดิต พ.ศ. 2545 ในมาตรา 3 เกี่ยวกับการระบุให้ข้อมูลสาธารณูปโภคเป็นข้อมูลเครดิต และให้ผู้ให้บริการสาธารณูปโภคเป็นสถาบันทางการเงิน ซึ่งเป็นแนวทางที่ต้องใช้เวลานานในการแก้ไขกฎหมาย จึงเสนอแนวทางให้เชื่อมโยงข้อมูลผ่าน Operator ที่ได้รับสัมปทานจากภาครัฐหรือผ่านเครดิตบูโรแทน ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะนำไปหารือเกี่ยวกับแนวปฏิบัติต่อไป
– หลังจากที่ ครม. มีมติกำหนดให้คณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลเครดิตพิจารณาออกประกาศกำหนดให้ผู้ค้าปลีก และบริษัทผู้ให้บริการสาธารณูปโภคเป็นสถาบันการเงิน ตามกฎหมายว่าด้วยการประกอบธุรกิจข้อมูลเครดิต เพื่อให้จัดเก็บและเผยแพร่ข้อมูลผู้ค้าปลีกและข้อมูลจากบริษัทผู้ให้บริการสาธารณูปโภคได้ โดยเริ่มจากผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือเป็นอันดับแรกก่อนนั้น ปัจจุบันอยู่ระหว่างการประเมินผลกระทบทางกฎหมาย และทำจุดยืนด้านนโยบาย (Policy stance)
– การเชื่อมโยงข้อมูลเครดิตระหว่างประเทศ มีแนวโน้มจะถูกนำมาใช้วัดใน Doing Business ในอนาคต และจะสามารถใช้ในการส่งเสริมการลงทุนในบริษัท Joint Venture ได้ด้วย ซึ่งมีแนวทางในการเชื่อมโยงข้อมูลเครดิตระหว่างประเทศ 2 แนวทาง ได้แก่ 1) การเชื่อมโยงฐานข้อมูลโดยตรงตามมาตรา 20 และ 2) การขอข้อมูลโดยเจ้าของข้อมูลและมีการเชื่อมผ่านตัวแทนตามมาตรา 25 ซึ่งที่ประชุมเห็นว่า แนวทางตามมาตรา 20 ยังไม่ได้มีการศึกษาผลกระทบ และการทำมาตรฐานข้อมูลให้เป็นแบบเดียวกัน ดังนั้น แนวทางตามมาตรา 25 น่าจะมีผลกระทบน้อยกว่า อย่างไรก็ดี ต้องมีการศึกษาเพิ่มเติมต่อไป
– ด้านการค้าระหว่างประเทศ เรื่องการลดระยะเวลา Cut-off time
(กมศุลกากร การท่าเรือแหลมฉบัง การท่าเรือกรุงเทพ)
– ระยะเวลา Cut-off time คือ เงื่อนไขหรือข้อตกลงร่วมระหว่างสายเรือผู้รับขนส่งสินค้าและผู้ส่งออกสินค้า โดยตู้คอนเทนเนอร์ที่ทำการบรรจุสินค้าเสร็จแล้วจะต้องนำส่งท่าเรือเพื่อทำการส่งออก ซึ่งใน DB 2020 ประเทศไทยมีระยะเวลาในการดำเนินการรวม 44 ชั่วโมง ซึ่งประกอบไปด้วยระยะเวลาการจัดการที่ท่าเรือ (Port Handling) 32 ชั่วโมง และพิธีการทางศุลกากร 12 ชั่วโมง
– การลดระยะเวลา Cut-off time ตามแนวปฏิบัติที่ดีของธนาคารโลก สามารถดำเนินการได้ทั้งการปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐาน การปรับปรุงขั้นตอนการปฏิบัติ และการกำหนดระยะเวลามาตรฐานตามประกาศของท่าเรือ ทั้งนี้ ท่าเรือแหลมฉบังเป็นท่าเรือที่ให้สัมปทานบริษัทเอกชนถึง 13 บริษัท ซึ่งมีความพร้อมที่แตกต่างกัน จึงควรจัดประชุมระหว่างหน่วยงานรัฐและภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องในการกำหนดแนวทางการลดระยะเวลา Cut-off time ที่เหมาะสมและสอดคล้องกับแนวปฏิบัติจริง