เมื่อวันพฤหัสบดี ที่ 25 มิถุนายน 2564 สำนักงาน ก.พ.ร. จัดประชุมคณะอนุกรรมการพัฒนาระบบราชการเกี่ยวกับการบริหารภาครัฐระบบเปิดและการมีส่วนร่วม ครั้งที่ 4/2564 ผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ โดยมีนายบัณฑูร เศรษฐศิโรตม์ เป็นประธานในการประชุม ซึ่งมีการพิจารณาและรับทราบในวาระต่าง ๆ ดังนี้
1. พิจารณาให้ความเห็นชอบแนวทางการขับเคลื่อนการสร้างระบบนิเวศภาครัฐระบบเปิดและการมีส่วนร่วมอย่างมีความหมาย (Open Government and Meaningful Participation Ecosystem : OG & MP) (1) ภาพรวม (2) หน่วยงานต้นแบบ และ (3) Agenda สำคัญ ดังนี้
(1) การพัฒนาองค์ประกอบของระบบนิเวศภาครัฐระบบเปิดและการมีส่วนร่วมอย่างมีความหมายในภาพรวม โดยการพัฒนา 8 องค์ประกอบ ดังนี้ 1) การเปิดเผยข้อมูลของภาครัฐ 2) การมีนโยบายและกฎหมายที่เอื้อต่อการเปิดระบบราชการ 3) การสร้างภาคีเครือข่าย 4) การสร้างแรงจูงใจ 5) การสนับสนุนองค์ความรู้และทรัพยากร 6) การพัฒนาเทคโนโลยี นวัตกรรม และโครงสร้างพื้นฐานโดยมีประชาชนเป็นศูนย์กลาง 7) การติดตามนโยบายของภาครัฐ 8) การสร้างวัฒนธรรมองค์กร เช่น การเปิดเผยข้อมูลและแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างหน่วยงานภาครัฐ โดยแต่ละหน่วยงานเปิดเผยข้อมูลตนเอง และเปิดเผยผ่านทาง data.go.th การพัฒนาปรับปรุงกฎหมายที่เอื้อต่อการเปิดระบบราชการและการมีส่วนร่วม การเปิดพื้นที่สาธารณะ (Open space) ให้ภาคส่วนต่าง ๆ เข้ามามีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็น
(2) การพัฒนาหน่วยงานต้นแบบด้านระบบนิเวศภาครัฐระบบเปิดและการมีส่วนร่วมอย่างมีความหมาย ดังนี้ 1) ปรับเกณฑ์รางวัลเลิศรัฐ สาขาการบริหารราชการแบบมีส่วนร่วม ประเภท “เปิดใจใกล้ชิดประชาชน” ให้สอดคล้องกับองค์ประกอบ OG & MP 2) คัดเลือกหน่วยงานเพื่อพัฒนาเป็นหน่วยงานต้นแบบ (Best Practice) ในเรื่อง OG & MP เช่น กรมสรรพากร กรมควบคุมโรค 3) พัฒนาหน่วยงานที่ได้รับรางวัล สาขาการบริหารราชการแบบมีส่วนร่วม ประเภท “เปิดใจใกล้ชิดประชาชน” ระดับดีเด่น และระดับดี ให้มีการพัฒนาดีขึ้น 4) ขยายผลไปยังหน่วยงานอื่น ๆ ต่อไป
(3) การพัฒนาระบบนิเวศภาครัฐระบบเปิดและการมีส่วนร่วมอย่างมีความหมายใน Agenda ที่สำคัญ โดยมีหลักเกณฑ์การพิจารณา ดังนี้ ระดับความรุนแรงของปัญหา การดำเนินการต่อเนื่องจากสิ่งที่ดำเนินการมาแล้ว ความร่วมมือและความพร้อมของภาคส่วนต่าง ๆ ประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นกับประชาชน เครือข่ายความร่วมมือในการผลักดันให้ประสบความสำเร็จ ทั้งนี้ มีร่าง Agenda สำคัญที่จะดำเนินการขับเคลื่อนในระดับส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค ส่วนท้องถิ่น เช่น การติดตามประเมินผลการแก้ไขปัญหา PM 2.5 ในจังหวัดสิงห์บุรีและลำปาง การจัดทำงบประมาณแบบมีส่วนร่วม (Participatory budgeting) การจัดการข้อร้องเรียน (e-Petitions) การผลักดันแผนพัฒนาชุมชนให้เกิดผลเป็นรูปธรรม การพัฒนาแพลตฟอร์มกลางในการสร้างการมีส่วนร่วม (e-Participation) การแก้ไขปัญหาคนจนเมือง การพัฒนาระบบการศึกษาของโรงเรียน การจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ แพลตฟอร์มกลางในการเปิดเผยข้อมูลของท้องถิ่น ฯลฯ
2. รับทราบความก้าวหน้าในการดำเนินงาน 2 เรื่อง ได้แก่
(1) การพัฒนาแพลตฟอร์มกลางกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
(2) การจัดกิจกรรม MY BETTER COUNTRY HACKATHON ครั้งที่ 9 : DATA HACK for IP เปลี่ยนข้อมูลเป็นนวัตกรรมขับเคลื่อนทรัพย์สินทางปัญญา และครั้งที่ 10 : การท่องเที่ยววิถีใหม่ กระตุ้นเศรษฐกิจไทย
ทั้งนี้ ในการประชุม อ.ก.พ.ร.ส่วนร่วมฯ ครั้งต่อไป จะพิจารณารายละเอียดแผนการขับเคลื่อนการสร้างระบบนิเวศภาครัฐระบบเปิดและการมีส่วนร่วมอย่างมีความหมาย ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 ต่อไป