สำนักงาน ก.พ.ร. ได้จัดประชุมเรื่อง “การคาดการณ์สภาพแวดล้อมการให้บริการภาครัฐ เพื่อกำหนดนโยบายและอํานวยความสะดวกในการประกอบธุรกิจ” เมื่อวันที่ 17 กันยายน 2564 เวลา 13.30 น. ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ โดยมีนางอารีย์พันธ์ เจริญสุข รองเลขาธิการ ก.พ.ร. เป็นประธานการประชุม และนายธราธร รัตนนฤมิตศร รองประธานกรรมการบริหารสถาบันอนาคตไทยศึกษา (Thailand Future Foundation) เป็นวิทยากรบรรยายในหัวข้อเรื่อง “อนาคตสภาพแวดล้อมการให้บริการภาครัฐ: เพื่อกำหนดนโยบายและอำนวยความสะดวกในการประกอบธุรกิจ” และมีผู้เข้าร่วมการประชุมจำนวน 95 คน จาก 20 หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการปรับปรุงสภาพแวดล้อมในการประกอบธุรกิจ
สรุปประเด็นสำคัญ ดังนี้
1. แนวโน้มการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญของโลกหลังช่วงโควิด-19 (Post Covid-19)
1.1 แนวโน้มด้านเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อม เช่น การเกิดอาชีพรูปแบบใหม่ ๆ (Future of Work) การเปลี่ยนผ่านทางเทคโนโลยี (Digital Transformation) ความพยายามในการลดคาร์บอนไดออกไซด์ (Decarbonization) การกำกับดูแล (Regulation) มีแนวโน้มเกิดโมเดลการกำกับดูแลใหม่ ๆ ที่ยืดหยุ่นมากขึ้น แนวโน้มสังคมสูงวัยและความเป็นเมือง ความเหลื่อมล้ำ และแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
1.2 แนวโน้มการให้บริการภาครัฐ เช่น การขับเคลื่อนงานบริการภาครัฐด้วยข้อมูล (Data-driven) การเปิดให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนางานบริการภาครัฐ (Experiment and Crowdsourcing) การบูรณาการข้ามหน่วยงาน (Seamless Government) การเป็นภาครัฐแบบเปิด (Open Government)
2. ฉากทัศน์อนาคตสภาพแวดล้อมการให้บริการภาครัฐในระยะ 10 ปีข้างหน้า โดยการวิเคราะห์จากแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงและความไม่แน่นอนของโลก แบ่งได้เป็น 4 แบบ ดังนี้
Scenario 1 – โลกที่ดีขึ้น (Better World Scenario) เศรษฐกิจฟื้นตัวได้ดีด้วยโมเดลเศรษฐกิจแบบใหม่ ๆ และสภาพแวดล้อมมีเสถียรภาพตลอดทศวรรษ
Scenario 2 – เศรษฐกิจเปราะบาง (Fragile Economy Scenario) เศรษฐกิจฟื้นตัวได้ดีด้วยโมเดลเศรษฐกิจแบบใหม่ๆ แต่สภาพแวดล้อมขาดเสถียรภาพ มีความวุ่นวายและมีวิกฤตด้านต่าง ๆ ตลอดทศวรรษ
Scenario 3 – ทศวรรษที่เติบโตช้า (Slow Growth Decade Scenario) เศรษฐกิจฟื้นตัวช้าด้วยโมเดลเศรษฐกิจแบบเดิม และสภาพแวดล้อมมีเสถียรภาพตลอดทศวรรษ
Scenario 4 – ทศวรรษที่สูญเปล่า (Lost Decade Scenario) เศรษฐกิจฟื้นตัวช้าด้วยโมเดลเศรษฐกิจแบบเดิม และสภาพแวดล้อมขาดเสถียรภาพ มีความวุ่นวายและมีวิกฤตด้านต่าง ๆ ตลอดทศวรรษ
3. ข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย
3.1 ประเด็นที่มีความสำคัญต่อการกำหนดนโยบาย ได้แก่ การเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัล การลงทุนในเศรษฐกิจที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม การเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี การกระจายความเสี่ยงการลงทุนเพื่อไม่ให้เกิดการหยุดชะงักของห่วงโซ่อุปทาน
3.2 นอกจากดำเนินการตามรายงาน Doing Business ของธนาคารโลกแล้ว ควรนำข้อเสนอแนะของภาคส่วนอื่น ๆ มากำหนดแนวทางการพัฒนางานบริการภาครัฐด้วย เช่น ข้อเสนอ Ten for Ten ตัวชี้วัด SDGs การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ เป็นต้น
3.3 ใช้โอกาสจากช่วงโควิด-19 ในการดำเนินการ Government Digital Transformation และการปรับปรุงกฎระเบียบที่เป็นอุปสรรคเพื่ออำนวยความสะดวกในการประกอบธุรกิจ
3.4 การพัฒนานโยบายที่เกี่ยวข้องกับมิติด้านกฎหมายและการกำกับดูแลอื่นๆ ที่มีการเสนอโดยผู้เชี่ยวชาญต่อธนาคารโลกในการปรับปรุงการอำนวยความสะดวกในการประกอบธุรกิจ
สำนักงาน ก.พ.ร. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะนำผลของการคาดการณ์สภาพแวดล้อมดังกล่าวไปใช้ในการกำหนดนโยบายในการพัฒนางานบริการภาครัฐและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทย