เมื่อวันจันทร์ที่ 22 พฤศจิกายน 2564 เวลา 14.00 น. ได้มีการประชุมชี้แจงแนวทางการขับเคลื่อนการพัฒนารูปแบบการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารราชการในจังหวัดให้มีการทำงานที่มีผลสัมฤทธิ์สูง ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ (ZOOM) โดยมีนายไมตรี อินทุสุต ประธาน อ.ก.พ.ร.ภูมิภาค เป็นประธาน และนายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย สรุปประเด็นการประชุมที่สำคัญ ดังนี้
1. นายไมตรี อินทุสุต กล่าวถึงแนวทางการขับเคลื่อนฯ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 ซึ่งการดำเนินงานตามแนวทางการขับเคลื่อนจังหวัดที่มีผลสัมฤทธิ์สูง เป็นการดำเนินการตามแผนการปฏิรูปประะเทศด้านการบริหารราชการแผ่นดิน (ฉบับปรับปรุง) ในกิจกรรมปฏิรูปที่ 4 สร้างความเข้มแข็งในการบริหารราชการในระดับพื้นที่ โดยการมีส่วนร่วมของประชาชน เพื่อให้จังหวัดมีความคล่องตัวในระบบงาน ระบบงบประมาณ และระบบคน
2. นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย มอบนโยบายแนวทางการขับเคลื่อนฯ ให้ทั้ง 76 จังหวัด โดยกล่าวว่า กระทรวงมหาดไทยได้มีนโยบายให้ทุกจังหวัดเข้าร่วมเข้าร่วมในการพัฒนารูปแบบการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารราชการในจังหวัดให้มีการทำงานที่มีผลสัมฤทธิ์สูง เพื่อให้จังหวัดมีกรอบในการบริหารจัดการ พัฒนางานอย่างเป็นระบบ ภายใต้หลักการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี (Good Governance) ซึ่งจะสนับสนุนให้จังหวัดเป็น “จังหวัดที่มีผลสัมฤทธิ์สูง” เป็นการ Change for good ให้สิ่งดี ๆ เกิดขึ้นในพื้นที่ พร้อมเน้นย้ำในการเลือกประเด็นสำคัญ (Agenda) มาขับเคลื่อน โดยการระดมสรรพกำลังกลไก 7 ภาคีเครือข่าย ได้แก่ ภาคราชการ ภาควิชาการ ภาคศาสนา ภาคเอกชน ภาคประชาชน ภาคประชาสังคม และภาคสื่อมวลชน ในการร่วมกันคัดเลือกประเด็น นอกจากนี้ ยังได้มอบนโยบายเพิ่มเติม โดยให้ทุกกรมในสังกัด และทุกจังหวัดสมัครรางวัล PMQA ด้วย
3. กองภูมิภาคฯ ชี้แจงรายละเอียดข้อเสนอแนวทางการขับเคลื่อนฯ โดยให้จังหวัดเลือกและเสนอประเด็นนโยบายสำคัญ (agenda) ที่มีความสำคัญในการพัฒนา หรือแก้ไขปัญหาเร่งด่วนเชิงพื้นที่ ทั้งนี้กระทรวงมหาดไทยและสำนักงาน ก.พ.ร. ได้ร่วมกันกำหนดกรอบในการให้จังหวัดเลือกประเด็นนโยบายสำคัญ ได้แก่ การขจัดความยากจน ลดความเหลื่อมล้ำ และการพัฒนาคนทุกช่วงวัยอย่างยั่งยืน ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง (ศจพ.) การยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชนและการพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก การส่งเสริมการท่องเที่ยวโดยชุมชนแบบมีส่วนร่วม การจัดการสิ่งแวดล้อม และการพัฒนาการบริการประชาชน/การพัฒนาคุณภาพการบริหารจัดการภาครัฐ หรืออาจเลือกประเด็นนโยบายสำคัญที่เคยได้รับรางวัลเพื่อขยายผล
ซึ่งจังหวัดสามารถเลือกรูปแบบการพัฒนามาใช้ในการชับเคลื่อน Agenda ได้แก่ การนำระบบดิจิทัลมาใช้ในการทำงาน (Digital Government) การพัฒนานวัตกรรมของรัฐ (Public Innovation) การพัฒนาไปสู่ราชการระบบเปิด (Open Government) การพัฒนาสู่การบริการภาครัฐที่เป็นเลิศ (Public Service for Excellence) ไปใช้ในการบริหารจัดการตามประเด็นนโยบายสำคัญ (agenda) ให้บรรลุผลสำเร็จ
โดยกำหนดให้จังหวัดส่งข้อเสนอตามแบบฟอร์มที่กำหนด ภายในวันที่ 17 ธันวาคม 2564 เพื่อเสนอ อ.ก.พ.ร.ภูมิภาคฯ พิจารณาต่อไป