เมื่อวันพุธที่ 27 กรกฎาคม 2565 สำนักงาน ก.พ.ร. ได้ดำเนินกิจกรรมประชุมสัมมนาออนไลน์ “รัฐยุคใหม่ สานพลังสื่อต้านทุจริต” ซึ่งเป็นการเสวนาแลกเปลี่ยนเรียนรู้จากผู้แทนจากหน่วยงานภาครัฐ และสื่อมวลชน ได้แก่
1. คุณภิมุข สิมะโรจน์ เลขานุการผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร
2. คุณศนิ จิวจินดา ผู้ช่วยเลขานุการผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร
3. ดร.วสันต์ ภัทรอธิคม นักวิจัยอาวุโส ห้องปฏิบัติการวิจัยระบบขนส่งและจราจรอัจฉริยะ NECTEC
4. คุณปฐมพร ทรัพย์ไพฑูรย์ ผู้สื่อข่าวและพิธีกร
5. คุณภิญโญยศ ม่วงสมมุข เจ้าพนักงานป้องกันการทุจริตชำนาญการ สำนักงาน ป.ป.ช.
ซึ่งมีประเด็นที่น่าสนใจ ดังนี้
* บทบาทของสื่อมวลชนในการสร้างการรับรู้ ความตระหนัก และร่วมป้องกันการทุจริตในสังคมไทย
– สื่อมีบทบาทสำคัญในการสร้างการรับรู้และการเปิดเผยการทุจริตให้ประชาชนรับทราบ เปรียบเสมือนเป็นหน่วยเฝ้าระวังและส่งสัญญาณเตือน (Watch Dog)
– ข้อจำกัดทางกฎหมาย ทำให้สื่อไม่ได้รับการปกป้องคุ้มครองอย่างเพียงพอ ทั้งในการเข้าถึงข้อมูลและการนำเสนอข่าวทุจริต และความท้าทายอีกประการ คือ การสื่อสารปัญหาทุจริตอย่างตรงไปตรงมา
– สื่อควรทำหน้าที่ตรวจสอบการทุจริตของภาครัฐขนาดเล็กด้วย เช่น การรับกระเช้าของขวัญ การได้รับสิทธิพิเศษที่มุ่งหวังผลตอบแทนภายหลัง รวมถึงตรวจสอบความโปร่งใสในการทำงาน แล้วเผยแพร่ให้ประชาชนรับทราบ
– การนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ จะช่วยส่งเสริมให้ประชาชนในสังคมไทยตระหนักรู้เรื่องการทุจริตมากขึ้น
* การมีส่วนร่วมแก้ไขปัญหาของชาวกรุงเทพฯ ผ่านเครื่องมือ Traffy Fondue
– ระบบ Traffy Fondue ทำให้เกิดความเท่าเทียมในการเข้าถึงการบริการ เจ้าหน้าที่มีความรวดเร็วในการรับเรื่องและแก้ปัญหา ทำให้เกิดความโปร่งใส และตรวจสอบได้
– กทม. เปิดให้ประชาชนแจ้งเบาะแสการทุจริตได้ โดยเก็บข้อมูลเบาะแส และข้อมูลของผู้แจ้งเป็นความลับ (Confidential)
– ประชาชนแจ้งปัญหาและทราบสถานการณ์แก้ปัญหาได้หลากหลายช่องทาง ทั้งแอปพลิเคชัน เว็บไซต์ และไลน์แชทบอท
– การแก้ไขปัญหาเชิงรุกของเจ้าหน้าที่อย่างรวดเร็ว ทำให้ Traffy Fondue ได้รับกระแสที่ดีจากประชาชน และผู้แจ้งเกิดกำลังใจในการเป็นส่วนหนึ่งของการแก้ไขปัญหา
* สถานการณ์และกลไกการป้องกันและปราบปรามการทุจริตของภาครัฐ
– สำนักงาน ป.ป.ช. ใช้เครื่องมือวัดประเมินการทุจริตจากหลายแหล่ง เช่น Transparency International, World Governance Indicators, The World Bank, Bangkok Poll, NIDA Poll เป็นต้น และมีการประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐ (ITA) โดยสำนักงาน ป.ป.ช. เป็นประจำทุกปี
– การทุจริตในภาครัฐมีหลากหลายรูปแบบ เช่น การทุจริตการจัดซื้อจัดจ้าง การบริหารงบประมาณ การปฏิบัติ/ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ การเรียกรับสินบน เป็นต้น
– ในปี 2564 การร้องเรียนเรื่องทุจริตผ่านหนังสือร้องเรียนมีมากที่สุด จากช่องทางการรับเรื่อง ได้แก่ หนังสือร้องเรียน หนังสือราชการ บัตรสนเท่ห์ เว็บไซต์ ร้องเรียนด้วยวาจา แจ้งเบาะแส
– สำนักงาน ป.ป.ช. ดำเนินโครงการปักหมุดพื้นที่เสี่ยงต่อการทุจริตที่ให้เครือข่ายภาคประชาชนในระดับพื้นที่ เข้ามาตรวจสอบ เฝ้าระวัง แจ้งเบาะแสของหน่วยงานภาครัฐที่กระทำการอันเสี่ยงต่อการทุจริต พร้อมทั้งผลักดันให้หน่วยงานต่าง ๆ จัดทำขั้นตอนการรายงานและช่องทางการร้องเรียนการทุจริต
* มุมมองในการป้องกันการทุจริตของภาครัฐ
– สื่อมวลชน :
– การสร้างสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมให้ภาครัฐและประชาชนเกิดความร่วมมือกัน
– สื่อมวลชนควรเสนอข่าวอย่างตรงไปตรงมา ถึงแม้ว่าจะมีข้อจำกัดทางการเงินที่รับสปอนเซอร์ทำให้ไม่กล้าเสนอข่าวที่มีผลกระทบ
– การใช้เทคโนโลยีที่มีความปลอดภัยของข้อมูล จะทำให้ประชาชนกล้าที่จะแจ้งเบาะแสการทุจริตมากขึ้น
– สำนักงาน ป.ป.ช. :
– การส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนในการป้องกันการทุจริตเป็นสิ่งสำคัญ
– การผลักดันให้ผู้บริหารไม่รับของขวัญเพื่อผลประโยชน์
– เจ้าหน้าที่ของรัฐควรขับเคลื่อนงานตามมาตรฐานทางจริยธรรม
– กทม. :
– การตื่นตัวของเจ้าหน้าที่ในการรับเรื่องร้องเรียนและการปฏิบัติจริง
– การรักษาความปลอดภัยของข้อมูลของผู้ร้องเรียนและผู้ถูกร้องเรียน
ปิดท้ายด้วยการร่วมกันระดมความคิดเห็น “รัฐยุคใหม่ สานพลังสื่อต้านทุจริต” เพื่อสร้างสังคมแห่งความซื่อตรงและการป้องกันการทุจริตคอร์รัปชัน โดยได้รับความร่วมมือจากสื่อมวลชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และผู้ที่สนใจเข้าร่วมกิจกรรมผ่านโปรมแกรม Zoom จำนวน 110 คน และรับชมทาง Facebook Live ของสำนักงาน ก.พ.ร. 359 ครั้ง