การลงพื้นที่ตรวจประเมินรางวัลเลิศรัฐ สาขาการบริหารราชการแบบมีส่วนร่วม ประจำปี พ.ศ. 2562 ประเภทรางวัลสัมฤทธิผลประชาชนมีส่วนร่วม (Effective Change) ผลงาน“การบริหารจัดการน้ำแบบมีส่วนร่วมในระบบนิเวศ 3 น้ำ แพรกหนามแดง” ของกรมชลประทาน

แชร์หน้านี้

          สำนักงาน ก.พ.ร. ได้ส่งเสริม สนับสนุนให้ส่วนราชการระดับกรม/เทียบเท่า และจังหวัดดำเนินการให้มีการส่งเสริมและยกระดับการมีส่วนร่วมของประชาชนในการบริหารราชการให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม พร้อมทั้งติดตามประเมินผลหน่วยงานที่สมัครขอรับรางวัลเลิศรัฐ สาขาการบริหารราชการแบบมีส่วนร่วม ประจำปี พ.ศ. 2562 ตามเกณฑ์การประเมิน โดยลงพื้นที่ตรวจประเมินระหว่างเดือนพฤษภาคม – มิถุนายน 2562 

           คณะตรวจประเมินรางวัลฯ ได้ลงพื้นที่ตรวจประเมินรางวัลเลิศรัฐ สาขาการบริหารราชการแบบมีส่วนร่วม ประจำปี พ.ศ. 2562 ประเภทรางวัลสัมฤทธิผลประชาชนมีส่วนร่วม (Effective Change) ผลงาน
“การบริหารจัดการน้ำแบบมีส่วนร่วมในระบบนิเวศ 3 น้ำ แพรกหนามแดง” ของกรมชลประทาน 

           ชุมชนแพรกหนามแดง อำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม เป็นชุมชนหนึ่งที่มีความหลากหลายของระบบนิเวศธรรมชาติ ประกอบด้วยพื้นที่น้ำจืด พื้นที่น้ำกร่อย และพื้นที่น้ำเค็ม แต่เนื่องจากการที่มีสภาพระบบนิเวศ 3 น้ำ (น้ำจืด น้ำกร่อย น้ำเค็ม) จึงทำให้มีน้ำเค็มหนุนเข้ามาในพื้นที่ ในอดีตชาวชุมชนใช้วิธีสร้างทำนบคันดินกั้นน้ำเค็มเพื่อทำนาปลูกข้าว ต่อมาปัญหาน้ำเค็มหนุนรุนแรงยิ่งขึ้น ชาวบ้านในพื้นที่จึงนำความเดือดร้อนไปร้องเรียนหน่วยงานราชการ กรมชลประทานดำเนินการก่อสร้างประตูกั้นน้ำจืด–น้ำเค็ม จำนวน 15 ประตู แต่ไม่สามารถแก้ไขปัญหาดังกล่าวได้สำเร็จ กลับกลายเป็นการแบ่งแยกฝั่งพื้นที่น้ำจืดและน้ำเค็มออกจากกัน ประกอบกับเมื่อมีการตัดถนนพระราม 2 ความเจริญได้นำโรงงานอุตสาหกรรมเข้ามาสู่ชุมชนเพิ่มมากขึ้น ทำให้มีการปล่อยน้ำเสียลงคลองต่าง ๆ เมื่อเปิด–ปิดประตูระบายน้ำ จึงทำให้พื้นที่ ฝั่งน้ำเค็มได้รับความเสียหายจากน้ำเสียที่ปล่อยลงคลอง ส่งผลให้สัตว์น้ำที่เพาะเลี้ยงไว้ตายลงเป็นจำนวนมาก และพื้นที่เกษตรกรรมฝั่งน้ำจืดได้รับผลกระทบจากการที่มีน้ำเค็มรุกล้ำเข้าไปในพื้นที่ การเปิด-ปิดประตูระบายน้ำจึงทำให้เกิดปัญหาการขัดแย้งของคนในพื้นที่เป็นอย่างมาก การแก้ไขปัญหาโดยภาครัฐเพียงอย่างเดียว ไม่ประสบความสำเร็จ...จำเป็นต้องสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชนอย่างแท้จริง...เพื่อแก้ไขปัญหาระบบนิเวศ  3 น้ำ ลดความขัดแย้งของผู้ใช้น้ำในชุมชน และแก้ไขปัญหาการประกอบอาชีพให้สอดคล้องกับสภาพพื้นที่ โครงการชลประทานสมุทรสงคราม และกลุ่มบริหารการใช้น้ำชลประทาน รวมใจพัฒนาเมืองสามน้ำแพรกหนามแดง จึงได้ร่วมกันแก้ไขปัญหาโดยได้ปรับกระบวนทัศน์การทำงานของเจ้าหน้าที่ในการนำการมีส่วนร่วม มาทำงานร่วมกับชุมชน โดยนำรูปแบบงานวิจัยเพื่อท้องถิ่นเข้ามาทำกระบวนการ จนสามารถค้นหาวิธีบริหารจัดการน้ำร่วมกันในพื้นที่ และลดปัญหาความขัดแย้งของคนภายในชุมชนและพื้นที่ใกล้เคียงได้อย่างต่อเนื่องและเป็นรูปธรรม เกิดนวัตกรรมการบริหารจัดการน้ำในระบบนิเวศ 3 น้ำ ด้วยบานประตูระบายน้ำแบบบานหับเผย ซึ่งเกิดขึ้นได้ด้วยการมีส่วนร่วมของประชาชนอย่างแท้จริง ประชาชนได้เข้ามาร่วมคิด ร่วมตัดสินใจ ร่วมดำเนินการ และการร่วมรับผลประโยชน์ โดยชุมชนได้รวมตัวจัดกลุ่มอย่างเป็นทางการ มีกฎเกณฑ์ในการรักษาทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมที่กำหนดโดยชุมชน เพื่อสร้างอำนาจในการต่อรอง รักษาผลประโยชน์ของชุมชน มีการแต่งตั้งคณะกรรมการจัดการชลประทาน (JMC) ตลอดจนสามารถเป็นพื้นที่ต้นแบบและขยายผลไปยังพื้นที่อื่น ๆ ได้ส่งผลให้คนในพื้นที่มีคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น