ธนาคารโลกตรวจติดตามความยากง่ายในการประกอบธุรกิจในไทย ด้านภาครัฐเร่งปฏิรูปบริการหวังเพิ่มอันดับ Doing Business

แชร์หน้านี้

         
       เมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม 2562 สำนักงาน .พ.ร. จัดประชุมชี้แจงต่อทีมวิจัยจากธนาคารโลกเพื่อประกอบการจัดเก็บข้อมูลในการจัดอันดับความยาก – ง่ายในการประกอบธุรกิจ (Doing Business) ในประเทศไทย โดยมีนายปกรณ์ นิลประพันธ์ เลขาธิการ ก.พ.ร. พร้อมด้วยผู้บริหารจากหน่วยงานต่าง ๆ เข้าร่วมชี้แจงความก้าวหน้าการพัฒนาบริการในด้านการเริ่มต้นธุรกิจ การชำระภาษี การคุ้มครองผู้ลงทุนเสียงข้างน้อย การจดทะเบียนทรัพย์สิน การขอใช้ไฟฟ้า และการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ ต่อทีมวิจัยจากธนาคารโลก นำโดย Ms.Birgit Hansl, Country Manager พร้อมด้วย Ms.In?s Zabalbeita M?gica, Regulatory Specialist Ms. Yulia Borisovna Valerio, Doing Business Expert และคุณรัชดา อนันตวราศิลป์ ผู้เชี่ยวชาญภาคการเงินอาวุโส ณ ห้องประชุม ก.พ.ร. ชั้น 5 สำนักงาน ก.พ.ร. ซึ่งการประชุมนี้จัดขึ้นระหว่างวันที่ 16-17 พฤษภาคม 2562 

       นายปกรณ์ นิลประพันธ์ เลขาธิการ ก.พ.ร. กล่าวว่า การจัดเก็บข้อมูลของทีมวิจัยจากธนาคารโลกได้ดำเนินการ 2 ส่วน คือ 1) การสำรวจความคิดเห็นของบริษัทที่ปรึกษาด้านกฎหมาย ด้านบัญชี และ 2) การสัมภาษณ์หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินการปรับปรุงสภาพแวดล้อมสำหรับการประกอบธุรกิจในประเทศไทยของธนาคารโลก โดยในปีที่ผ่านมาประเทศไทยได้ปฏิรูปเพื่ออำนวยความสะดวกในการประกอบธุรกิจในหลายด้านแสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นตั้งใจของภาครัฐไทยในการดำเนินการเพื่อยกระดับความยาก-ง่ายในการประกอบธุรกิจ เพื่ออันดับที่ดีขึ้นของประเทศไทย ซึ่งการจัดอันดับนี้ส่งผลดีต่อภาพลักษณ์ของประเทศไทย รวมทั้งดึงดูดนักลงทุนจากต่างประเทศ และเพิ่มขีดความสามารถด้านการแข่งขันกับนานาประเทศ

        ทั้งนี้ ในการประชุมได้มีการชี้แจงความก้าวหน้าการพัฒนาให้บริการในด้านต่าง ๆ ได้แก่ 

   การเริ่มต้นธุรกิจ กรมพัฒนาธุรกิจการค้าเปิดให้นักธุรกิจและประชาชนทั่วไปสามารถใช้ระบบ e-Registration โดยสามารถจดทะเบียนนิติบุคคล ขึ้นทะเบียนนายจ้าง/ลูกจ้าง และจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มได้ในขั้นตอนเดียว นอกจากนี้ ได้มีการสร้างการรับรู้เกี่ยวกับสิทธิหน้าที่ตามกฎหมาย สภาพการจ้างการทำงานที่เป็นธรรม และได้รับสวัสดิการที่เหมาะสมสอดคล้องกับกฎหมายคุ้มครองแรงงาน 

        การชำระภาษี ได้มีการปรับปรุงแบบ ภ.ง.ด. 50 ลดระยะเวลาในการกรอกภาษี และพัฒนาระบบ e-Payment หรือ e-Services ให้สำนักบัญชีสามารถชำระเงินสมทบได้หลายสถานประกอบการโดยใช้บัญชีเดียว และพัฒนาระบบ e-Service ให้สามารถชำระเงินสมทบผ่าน e-Payment ได้ทั้งกองทุนประกันสังคมและกองทุนเงินทดแทน พร้อมกับการเชื่อมโยงข้อมูล ช่วยลดระยะเวลา และคืนภาษีให้ได้รวดเร็วมากขึ้น

      การคุ้มครองนักลงทุนเสียงข้างน้อย ก้าวต่อไปจะมีการแก้ไขประมวลแพ่งและพาณิชย์ เพื่อลดสัดส่วนผู้ถือหุ้นที่ให้สิทธิเรียกประชุมวิสามัญจากร้อยละ 20 เหลือร้อยละ 10 และใช้สิทธิเสนอวาระในการประชุมผู้ถือหุ้นเหลือร้อยละ 5 เช่นเดียวกับผู้ถือหุ้นของบริษัทจดทะเบียน รวมทั้งมีการแก้ไขพระราชบัญญัติบริษัทมหาชนจำกัด พ.ศ. 2535 โดยมีการส่งเอกสารผ่าน e-Delivery และเพิ่มช่องทางให้ผู้ถือหุ้นมอบฉันทะให้บุคคลอื่นเข้าประชุมในรูปแบบข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ พร้อมทั้งประชาสัมพันธ์กฎหมายและกฎเกณฑ์ที่เกี่ยวกับ Ease of Doing Business อย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ ได้มีการปรับปรุงประกาศของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ เพื่อลดภาระและต้นทุนในการประกอบธุรกิจขอบริษัทจดทะเบียน เช่น ปรับปรุงวิธีการจัดส่งงบการเงิน และรายงานเกี่ยวกับฐานะการเงินและผลการดำเนินงาน ให้อยู่ในรูปแบบข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ผ่านระบบของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ปรับปรุงวิธีการรายงานการถือครองหลักทรัพย์ของกรรมการ ผู้บริหาร และผู้สอบบัญชีให้เป็นการรายงานผ่านระบบรับส่งข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ และ อยู่ระหว่างการรับฟังความคิดเห็นเพื่อลดจำนวนแบบรายงานด้วยการรวมแบบแสดงรายการข้อมูลประจำปี (แบบ 56-1) และรายงานประจำปี (แบบ 56-2) ให้เหลือเพียงแบบเดียว และรองรับการจัดส่งข้อมูลในรูปแบบ machine readable data ซึ่งจะช่วยอำนวยความสะดวกให้กับผู้ลงทุนที่ต้องการนำข้อมูลไปใช้ด้วย 

         การจดทะเบียนทรัพย์สิน  จาก LandsMaps Application ที่มีการให้ข้อมูลเกี่ยวกับแปลงที่ดิน ได้มีการขยายการเชื่อมโยงข้อมูลกับกรมพัฒนาธุรกิจการค้าให้กับสำนักงานที่ดินทั่วประเทศ และขยายการทับซ้อนข้อมูลการใช้ประโยชน์ที่ดินและผังเมืองทั่วประเทศ จัดทำระแบบ Service Zoning ในการตรวจสอบว่าที่ดินใดมีรายชื่อเจ้าของ ข้อมูลการติดต่ออย่างไรบ้าง ตามความยินยอมจากเจ้าของที่ดิน และวางแผนการดำเนินการประกันภัยความรับผิดชอบในการโอนที่ดิน เพื่อคำนวนเบี้ยประกันและนำเสนอต่อไป           

      การขอใช้ไฟฟ้า มีการพัฒนาปรับปรุงอัตราค่าบริการต่าง ๆ ให้ลดลง พัฒนาระบบให้สะดวกมากขึ้น โดยสามารถใช้การค้ำประกันจากธนาคาร โดยในปีถัดไปจะดำเนินการปรับปรุงระเบียบการขอใช้ไฟฟ้า จากเดิม 77,050 บาท เป็น 2,500 บาท โดยยกเลิกขั้นตอนการตรวจสอบภายใน และมีการบริการขึ้นทะเบียนผู้รับเหมาติดตั้งระบบไฟฟ้าภายในเพิ่มเติม เพิ่มตัวแทนการชำระการขอใช้ไฟฟ้า ปรับปรุงอัตราค่าบริการ และมีการพัฒนาแผนพัฒนาระบบจำหน่ายเพื่อให้ระบบไฟฟ้าให้มีเสถียรภาพมากขึ้น


กลุ่มงานเลขานุการ ก.พ.ร. และการประชาสัมพันธ์ / จัดทำ