การลงพื้นที่ตรวจประเมินรางวัลเลิศรัฐ สาขาการบริหารราชการแบบมีส่วนร่วม ประจำปี พ.ศ. 2562 ประเภทรางวัลเลื่องลือขยายผล (Participation Expanded) ผลงาน“โครงการส่งเสริมการตลาดกรีนมาร์เก็ต แบบบูรณาการโดยใช้ตลาดนำ จังหวัดเพชรบูรณ์” ของสำนักงานปลัดกระทรวงพาณิชย์

แชร์หน้านี้

          สำนักงาน ก.พ.ร. ได้ส่งเสริม สนับสนุนให้ส่วนราชการระดับกรม/เทียบเท่า และจังหวัดดำเนินการให้มีการส่งเสริมและยกระดับการมีส่วนร่วมของประชาชนในการบริหารราชการให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม พร้อมทั้งติดตามประเมินผลหน่วยงานที่สมัครขอรับรางวัลเลิศรัฐ สาขาการบริหารราชการแบบมีส่วนร่วม ประจำปี พ.ศ. 2562 ตามเกณฑ์การประเมิน โดยลงพื้นที่ตรวจประเมินระหว่างเดือนพฤษภาคม – มิถุนายน 2562

           คณะตรวจประเมินรางวัลฯ ได้ลงพื้นที่ตรวจประเมินรางวัลเลิศรัฐ สาขาการบริหารราชการแบบมีส่วนร่วม ประจำปี พ.ศ. 2562 ประเภทรางวัลเลื่องลือขยายผล (Participation Expanded) ผลงาน “โครงการส่งเสริมการตลาดกรีนมาร์เก็ต แบบบูรณาการโดยใช้ตลาดนำ จังหวัดเพชรบูรณ์” ของ สำนักงานปลัดกระทรวงพาณิชย์

           สำนักงานปลัดกระทรวงพาณิชย์นำโครงการต้นแบบมาจากโครงการส่งเสริมการตลาดกรีนมาร์เก็ต แบบบูรณาการโดยใช้ตลาดนำ : เพชรบูรณ์ ที่เคยได้รับรางวัลฯ ในระดับดีเด่น ในปี พ.ศ. 2560 ขยายผลใน 2 พื้นที่ ได้แก่ จังหวัดอำนาจเจริญ และจังหวัดสุรินทร์

           1) พื้นที่ขยายผล พื้นที่ 1 : จังหวัดอำนาจเจริญ เกษตรกรส่วนใหญ่ มีฐานะยากจน สาเหตุสำคัญมาจากต้นทุนการผลิตข้าวที่สูงขึ้นทุกปี จากสภาพปัญหาดังกล่าว สำนักงานพาณิชย์จังหวัดอำนาจเจริญ ได้เกิดแนวคิดใหม่ที่มุ่งแสวงหาทางออกให้เกษตรกรมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น มีสุขภาพแข็งแรง มีรายได้เพิ่มขึ้น รวมทั้งคำนึงถึงความปลอดภัยของผู้บริโภคและสิ่งแวดล้อม เพื่อให้เกิดความยั่งยืน และมั่นคง จึงได้นำโครงการต้นแบบมาเป็นแนวทางในการขับเคลื่อน โดยได้รวบรวมกลุ่มผู้ผลิตข้าวอินทรีย์ ซึ่งกระจัดกระจายอยู่ตามพื้นที่ต่าง ๆ โดยวิธีการจัดทำ “โครงการข้าวสัจธรรมอำนาจเจริญ” และขอรับการสนับสนุนงบประมาณจากภาครัฐ และยื่นขอตรวจรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ของ IFOAM จากสำนักงานมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ (ม.ก.ท.) โดยวางแผนปรับเปลี่ยนการผลิตจากข้าวหอมมะลิ เป็นพืช ผัก ผลไม้ จากการศึกษาดูงานโครงการต้นแบบฯ ได้ส่งเสริมให้เกษตรกรจัดตั้งเป็นห้างหุ้นส่วนจำกัด ภูตะวันออร์แกนิคฟาร์ม เพื่อขับเคลื่อนด้านการตลาดภายใต้เครื่องหมาย “ผักอินทรีย์ เมืองธรรมเกษตร Phutawan Organic Farm” ซึ่งต่างจากโครงการต้นแบบที่ใช้รูปแบบสหกรณ์ ทั้งนี้ ยังมีการจัดตั้ง เป็นคณะกรรมการระดับจังหวัด โดยมีการบูรณาการร่วมกับทุกภาคส่วนในจังหวัด สำนักงานพาณิชย์จังหวัด มีบทบาทดำเนินการส่งเสริมและเพิ่มช่องทางการตลาด มีการนำเกษตรกร/ผู้ผลิต ไปเจรจาจับคู่ธุรกิจการค้า ในจังหวัดต่างๆ นอกจากนี้ เป็นกลไกหลักด้านการประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อต่าง ๆ

           ผลสำเร็จจากการขยายผลดังกล่าวเกิดการจ้างงานในชุมชนเพิ่มมากขึ้น เกิดแหล่งเรียนรู้ต้นแบบในชุมชน นำสู่การขยายผลในพื้นที่ของจังหวัดอำนาจเจริญ 4 กลุ่ม ที่สำคัญสามารถจัดตั้งเครือข่ายเพิ่มเป็น 30 กลุ่มย่อย สมาชิก 179 ราย ผลิตข้าวหอมมะลิได้รับมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ IFORM, EU พื้นที่รวม 3,400 ไร่ ทำให้ชุมชนมีรายได้เพิ่มขึ้น และมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น อีกทั้งส่งเสริมการท่องเที่ยว เชิงธรรมชาติ ชุมชนเกิดความรัก ความสามัคคีในชุมชน

            2) พื้นที่ขยายผล พื้นที่ 2 : จังหวัดสุรินทร์ ด้วยจังหวัดมีนโยบาย/วิสัยทัศน์/พันธกิจ และแผนงานส่งเสริมการรผลิตเกษตรอินทรีย์ เพื่อให้เป็นเมืองเกษตรอินทรีย์ ปลอดสารเคมีและสารพิษ จากที่มาดังกล่าว ทำให้เกิดแนวคิดเพื่อหาทางออกให้แก่สังคมด้านการเกษตร ซึ่งเกษตรกรบ้านทัพไทยและเกษตรกรบ้านโคกวัด-โคปทุม ได้รวมตัวกันทำเกษตรอินทรีย์ โดยมีสมาชิกเริ่มต้น 15 คน จัดตั้งกลุ่มขึ้นในนาม “กลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและอาชีพทางเลือกบ้านทัพไท” และขอรับรองมาตรฐานจากสำนักงานมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ (มกท.) จนสมาชิกกลุ่มได้รับมาตรฐานและกลุ่มได้พัฒนามาตรฐานเพื่อการส่งออกไปยัง ตลาดยุโรป ดังนั้นเพื่อให้เป็นโมเดลของการขับเคลื่อนหมู่บ้านเกษตรอินทรีย์ทัพไทย เกิดรูปธรรมมากยิ่งขึ้น ทั้งด้านการผลิต การแปรรูป การบรรจุภัณฑ์ การตลาด สำนักงานปลัดกระทรวงพาณิชย์ โดยสำนักงานพาณิชย์จังหวัดสุรินทร์ ได้สนับสนุนในด้านองค์ความรู้ การตรวจรับรอง งบประมาณ เพื่อให้เกิดความมั่นใจ ของผู้บริโภคทั้งภายในและต่างจังหวัด และต่างประเทศ ประกอบกับได้แนวทางในการดำเนินการของโครงการต้นแบบมาเป็นแนวทางในการขับเคลื่อนด้านการตลาดสีเขียวในพื้นที่ให้มีประสิทธิภาพ โดยการยกระดับสินค้าเกษตรอินทรีย์ให้ได้มาตรฐาน โดยใช้กลไกการมีส่วนร่วมโดยการจัดตั้งเป็นสหกรณ์เกษตรอินทรีย์ทัพไทย ที่ได้รับมาตรฐาน GMP และ HACCP เพื่อเป็นการการันตีว่าอาหารมีความปลอดภัย

           ผลสำเร็จดังกล่าว ช่วยให้ชุมชนในจังหวัดสุรินทร์ให้มีรายได้เพิ่มขึ้น จำนวนสมาชิกเกษตรอินทรีย์เพิ่มขึ้นจนปัจจุบันมีสมาชิกทั้งหมด 239 คน และทำให้เกิด MOU ร่วมกับบริษัทต่าง ๆ เช่น บริษัทสีฟ้า จำกัด และโรงแรมในเครือ นอกจากนี้ประชาชนมีความเป็นอยู่ดีขึ้น และเกิดความเข้มแข็งในชุมชน ดยพบว่าผลตรวจคัดกรองสารเคมีในเลือดประชากรในหมู่บ้าน เป็น 0% ปัจจุบันกลายเป็นแหล่งเรียนรู้และต้นแบบในการศึกษา ต่อยอด ขยายผลไปยังกลุ่มเกษตรอินทรีย์ในหมู่บ้านอื่น ๆ ต่อไป