การหารือและแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ของคณะกรรมาธิการการสาธารณสุข วุฒิสภา และคณะอนุกรรมาธิการติดตาม เสนอแนะ และเร่งรัดการปฏิรูปประเทศและการจัดทำและดำเนินการตามยุทธศาสตร์ชาติ ด้านสาธารณสุข ในคณะกรรมาธิการ การสาธารณสุข วุฒิสภา ร่วมกับเลขาธิการ ก.พ.ร. และผู้บริหารของสำนักงาน ก.พ.ร.

แชร์หน้านี้

         
         เมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม พ.ศ. 2563 เวลา 10.00 น. คณะกรรมาธิการการสาธารณสุข วุฒิสภา และคณะอนุกรรมาธิการติดตาม เสนอแนะ และเร่งรัดการปฏิรูปประเทศและการจัดทำและดำเนินการตามยุทธศาสตร์ชาติ ด้านสาธารณสุข ในคณะกรรมาธิการการสาธารณสุข วุฒิสภา โดยนายแพทย์ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ รองประธานคณะกรรมาธิการการสาธารณสุข และคณะ ได้ขอเข้าพบเลขาธิการ ก.พ.ร. และผู้บริหารของสำนักงาน ก.พ.ร. เพื่อหารือและแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ในประเด็นการปฏิรูปประเทศด้านสาธารณสุขประเด็นการปฏิรูประบบบริหารจัดการด้านสุขภาพ โดยมีขอบเขตการหารือ ดังนี้

         1) การสร้างความเป็นเอกภาพทางนโยบายด้านสุขภาพของประเทศ
         2) การกระจายอำนาจการบริหารจัดการ โดยให้ประชาชนมีส่วนร่วมในระดับเขตพื้นที่ กทม.
         3) การปฏิรูปบทบาท โครงสร้าง หน้าที่ของกระทรวงสาธารณสุข
         4) การปฏิรูปการบริหารสถานบริการในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข

         โดยประเด็นหลักที่ทางกรรมาธิการได้หยิบยกเพื่อหารือ คือ การตั้งเขตสุขภาพและจัดตั้งกรรมการร่วม (Consortium) โดยบูรณาการกับหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับระบบสุขภาพ ทั้งในและนอกสังกัดกระทรวงสาธารณสุข โดยจัดทำ Systematic Sandbox ใน 1 เขตภูมิภาค/1 เขต กทม. ซึ่งในประเด็นดังกล่าวสำนักงาน ก.พ.ร. มีความเห็นเกี่ยวกับแนวทางการดำเนินการอย่างไร
ในการนี้ เลขาธิการ ก.พ.ร. เห็นชอบในหลักการข้อเสนอการปฏิรูปประเทศเกี่ยวกับการสร้างความเป็นเอกภาพทางนโยบายด้านสาธารณสุขของประเทศ แนวทางการบริหารจัดการของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
ในระบบสุขภาพ รวมถึงข้อเสนอการจัดทำ Systematic Sandbox ในเขตสุขภาพ โดยมีข้อเสนอแนะเพิ่มเติม ดังนี้

          1) การปฏิรูปประเทศ ต้องมีการกำหนดเป้าหมายที่ชัดเจน เพื่อผลักดันการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศให้เกิดผลสำเร็จ ซึ่งสำนักงาน ก.พ.ร. จะมีการกำหนดเป็นตัวชี้วัดการทำงานของกระทรวง กรมในปี 2564 ด้วย ทั้งนี้แนวทางการปฏิรูปดังกล่าว ควรมีการร่วมขับเคลื่อนจากฝ่ายบริหารของกระทรวงสาธารณสุข และมีเป้าหมายร่วมกันจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

          2) การกำหนดให้มีคณะกรรมการนโยบายสุขภาพแห่งชาติ รวมทั้งการกระจายอำนาจโดยการจัดตั้งเขตสุขภาพ และการจัดตั้งกรรมการร่วม (Consortium) ควรใช้อำนาจทางการบริหาร เช่น การออกมติ ครม. และระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นต้น แทนการออกกฎหมายใหม่ ซึ่งดำเนินการได้ยากและใช้เวลานาน

          3) การจัดทำ Systematic Sandbox ให้สามารถทดลองเพื่อให้เห็นผลลัพธ์ที่ชัดเจน ควรพิจารณาถึง
เป้าหมายที่ต้องการให้เกิดขึ้น ศึกษาปัจจัย อุปสรรค รวมถึงกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้อง เพื่อพัฒนาให้ได้ต้นแบบที่เหมาะสมสำหรับการนำไปขยายผลในพื้นที่อื่นต่อไป จากนั้นจึงจะพิจารณาถึงการออกระเบียบหรือกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้ การปรับปรุงบทบาทภารกิจ และโครงสร้างส่วนราชการ ควรดำเนินการหลังจากที่ได้ผลลัพธ์ที่ชัดเจนจากการทำ Systematic Sandbox แล้ว

          4) การบริหารสถานบริการในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข ต้องพิจารณาถึงปัญหาหลักของสถานบริการแต่ละที่ ซึ่งอาจเหมือนหรือมีข้อจำกัดต่างกัน วิธีการแก้ไขปัญหาอาจจะใช้วิธีเดียวกันไม่ได้ ดังนั้น จึงควรเลือกพื้นที่ที่มีปัญหาคล้ายกันในลักษณะ Common problem เพื่อกำหนดเป็น Systematic Sandbox ซึ่งรูปแบบที่ได้จากการทดลองจะนำไปใช้เป็นต้นแบบในการขยายผลการดำเนินงานต่อไป



  โกศล มนัสสิรี (กองพัฒนาระบบราชการ 2) / ข้อมูล
กลุ่มงานการประชาสัมพันธ์ / จัดทำ