จังหวัดลำปางร่วมกับสำนักงาน ก.พ.ร. จัดกิจกรรม MY BETTER COUNTRY HACKATHON ครั้งที่ 8 : ลำปางสดใส ลดฝุ่น PM 2.5

แชร์หน้านี้



         จังหวัดลำปางร่วมกับสำนักงาน ก.พ.ร. จัดกิจกรรม MY BETTER COUNTRY HACKATHON ครั้งที่ 8 : ลำปางสดใส ลดฝุ่น PM 2.5 ขึ้นเมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2564 ณ หอประชุมชั้น 2 มหาวิทยาลัยสวนดุสิต ศูนย์การศึกษานอกที่ตั้ง ลำปาง โดยมีนายณรงค์ศักดิ์ โอสถธนากร ผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง เป็นประธานในกิจกรรมครั้งนี้

         วัตถุประสงค์ในการจัดกิจกรรมในครั้งนี้เพื่อระดมไอเดียเชิงสร้างสรรค์จากประชาชน เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง เครือข่ายภาคประชาสังคม และภาคเอกชน ในประเด็นวิธีการป้องกันและแก้ไขปัญหา PM 2.5 โดยจำแนกออกเป็น 3 ประเด็นหลัก คือ การเตรียมความพร้อมก่อนการเกิด PM 2.5 วิธีการบริหารจัดการระหว่างเผชิญปัญหา PM 2.5 และการจัดการภายหลังจากเกิดปัญหา PM 2.5

          ผู้แทนจากส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม และภาคประชาชน ให้ความสนใจเข้าร่วมกิจกรรมกว่า 100 คน เพื่อร่วมนำเสนอไอเดียในป้องกันและแก้ไขปัญหา PM 2.5 ในจังหวัดลำปาง โดยมีข้อเสนอไอเดียที่น่าสนใจ 7 ข้อเสนอ ดังนี้

          1. โครงการสร้างบ่อน้ำบนเขา ดอยพระบาท
การเตรียมความพร้อมก่อนการเกิดปัญหา PM 2.5 อาศัยหลักการสร้างความชุ่มชื้นในพื้นที่ป่า เพื่อลดโอกาสการเกิดปัญหาไฟป่าที่จะเกิดขึ้นในช่วงหน้าแล้ง โดยการสร้างบ่อเก็บน้ำขนาดเล็กบนเขาเพื่อเก็บกับน้ำจากการตะบันน้ำขึ้นสู่ยอดเขาอาศัยพลังงานแสงอาทิตย์ และใช้คลองไส้ไก่ในการปล่อยน้ำลงมาเพื่อสร้างความชื้นในพื้นที่ป่า ซึ่งมีปัญหาและอุปสรรคที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ พระราชบัญญัติป่าไม้ และงบประมาณในการก่อสร้าง

           2. โครงการวิทยุท้องถิ่น เข้าถึงประชาชน
               การประชาสัมพันธ์ผ่านช่องทางวิทยุชุมชนรูปแบบและภาษาที่เข้าใจง่าย
เพื่อสร้างความรับรู้และความเข้าใจในชุมชนในการป้องกันไฟป่าซึ่งเกิดจาก 3 องค์ประกอบ ได้แก่ เชื้อเพลิง อากาศ และความร้อน โดยเน้นการแยกองค์ประกอบด้านความร้อนที่มีแหล่งกำเนิดจากพฤติกรรมของคน เพื่อลดการเกิดปัญหาไฟป่าในพื้นที่

           3. โครงการหน้ากาก PM 2.5
               การพัฒนานวัตกรรมเพื่อดูแลสุขภาพของประชาชน เพื่อเป็นการเฝ้าระวังและป้องกันปัญหาสุขภาพที่มีสาเหตุมาจากปัญหาฝุ่นละอองของประชาชนกลุ่มเสี่ยงกว่า 193,000 คน

           4. โครงการขยายผลวิทยุสื่อสารเพื่อการประสานงานระหว่างหมู่บ้าน
               มีการดำเนินการขับเคลื่อนวิทยุสื่อสารเพื่อประสานงานระหว่างเครือข่ายอยู่แล้วในพื้นที่ 20 หมู่บ้าน ในกรณีเร่งด่วนเมื่อเกิดภัยทำให้เกิดความคล่องตัวในการปฏิบัติงาน โดยมีแผนขยายผลไปสู่หมู่บ้านอื่น ๆ เพื่อให้สามารถครอบคลลุมให้ครบทุกพื้นที่

           5. โครงการหมู่บ้านตำบลบอแฮ้ว และตำบลดอยพระบาท
               การติดตั้งกล้อง CCTV ในการติดตาม เฝ้าระวัง และตรวจสอบจุดเกิดเหตุไฟป่า ในพื้นที่กว่า 9,800 ไร่ รวมถึงการจัดทำประกันภัยให้เครือข่ายอาสาดับไฟป่า

           6. ป่าชุมชนห้วยน้ำขาว 2877 ไร่
               หน่วยดับไฟป่าเข้าถึงพื้นที่ได้ล่าช้า จึงมีการดำเนินการขอกำลังทหารเพื่อควบคุมการลักลอบเข้าป่าและเผาป่า รวมไปถึงการจัดหาความร่วมมือจากภาคเอกชนในการนำเครื่องมือในการไถกลบฟางและตอซังข้าวเพื่อลดการเผาในพื้นที่การเกษตร

           7. Line Chatbot น้องเข้ม
               เพื่อเป็นช่องทางในการสื่อสารและแจ้งเหตุการเผาที่โล่ง ไฟป่าและหมอกควันในพื้นที่ เพื่อให้สามารถจัดการได้ทันเวลาและเกิดความเสียหายน้อยที่สุด เพื่อช่วยเหลือประชาชนในจังหวัดลำปางกว่า 750,000 คน โดยมีต้นทุนในการดำเนินการโดยประมาณ 2,500 บาท

           จาก 7 โครงการที่นำเสนอ ได้รับผลพิจารณาของคณะกรรมการจำนวน 2 โครงการ ได้แก่ Line Chatbot น้องเข้ม และ โครงการวิทยุท้องถิ่น เข้าถึงประชาชน

           อย่างไรก็ตาม ไอเดียที่ได้รับจากการทำกิจกรรมร่วมกันในวันนี้ จะรวบรวมและนำเสนอผู้ว่าราชการจังหวัดเพื่อใช้ในการขับเคลื่อนการป้องกันและแก้ไขปัญหาดังกล่าวข้างต้น ในพื้นที่จังหวัดลำปางให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม ต่อไป


กลุ่มงานการประชาสัมพันธ์ / จัดทำ