สำนักงาน ก.พ.ร. จัดการประชุมคณะทำงานเพื่อพิจารณาตัวชี้วัดตามมาตรการปรับปรุงประสิทธิภาพในการปฏิบัติราชการของส่วนราชการ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 ครั้งที่ 2/2564 ผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์

แชร์หน้านี้


         เมื่อวันศุกร์ที่ 17 กันยายน พ.ศ.2564 สำนักงาน ก.พ.ร. ได้จัดการประชุมคณะทำงานเพื่อพิจารณาตัวชี้วัดตามมาตรการปรับปรุงประสิทธิภาพในการปฏิบัติราชการของส่วนราชการ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 ครั้งที่ 2/2564 ผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ โดยมีนายวรากรณ์ สามโกเศศ เป็นประธานการประชุม เพื่อพิจารณาตัวชี้วัดตามมาตรการปรับปรุงประสิทธิภาพในการปฏิบัติราชการประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 ของส่วนราชการ โดยสรุปสาระสำคัญดังนี้

         1. ตัวชี้วัดการประเมินผล ปี 2565 ประกอบด้วยตัวชี้วัดที่ได้ผ่านการพิจารณาจากคณะกรรมการกำกับการประเมินผลฯ พิจารณากำหนดตัวชี้วัดแล้ว จำนวน 37 ส่วนราชการ (18 กระทรวง, 13 ส่วนราชการในสังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี และ 6 ส่วนราชการไม่สังกัดฯ) รวม 232 ตัวชี้วัด โดยเป็นตัวชี้วัดที่ใช้ในการประเมินผล 210 ตัวชี้วัด และตัวชี้วัด Monitor (รายงานผลแต่ไม่นำผลมาประเมิน) 22 ตัวชี้วัด

         2. ตัวชี้วัดการประเมินผล ปี 2565 ส่วนใหญ่เป็นตัวชี้วัดที่ส่วนราชการได้คัดเลือกจากรายการตัวชี้วัดฯ (KPI Basket) ของสำนักงาน ก.พ.ร. จำนวน 212 ตัวชี้วัด คิดเป็น ร้อยละ 91.38 และเป็นตัวชี้วัดที่ส่วนราชการเสนอเพิ่มเติม จำนวน 20 ตัวชี้วัด คิดเป็น ร้อยละ 8.62 ซึ่งมีความเชื่อมโยงกับแผนและนโยบายระดับชาติ (แผนแม่บทฯ แผนการปฏิรูปฯ แผนพัฒนาเศรษฐกิจฯ) และภารกิจสำคัญของหน่วยงาน

         3. ตัวชี้วัดการขับเคลื่อนการบูรณาการร่วมกัน (Joint KPIs) ระหว่างกระทรวง ระหว่างกระทรวงกับจังหวัด และกับองค์การมหาชน รวมทั้ง Joint KPIs เพื่อขับเคลื่อนงานบริการ Agenda (e-Service) ตาม มติ ครม. วันที่ 3 สิงหาคม 2564 ซึ่งมีการกำหนดวัดในส่วนราชการที่เป็นเจ้าภาพหลักครบถ้วน

         4. มีการกำหนดตัวชี้วัดที่รองรับการฟื้นฟู/แก้ปัญหาสถานการณ์อันเนื่องมาจากโรคโควิด-19 โดยให้ความสำคัญกับเรื่องการแก้ไขปัญหาและควบคุมโรค การสร้างรายได้และการมีงานทำ รวมถึงการปรับบริการภาครัฐให้สอดรับกับสถานการณ์เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับประชาชน เป็นต้น

         5. การกำหนดค่าเป้าหมายตัวชี้วัดของแต่ละส่วนราชการ พบว่า ร้อยละ 87 สามารถตอบโจทย์เป้าหมายของประเทศ ทั้งการสนับสนุนเป้าหมายโดยตรงและทางอ้อม

         6. กลุ่มตัวชี้วัดที่มีการกำหนดเป้าหมายต่ำกว่าเป้าหมายตามแผนฯ เนื่องจากพบข้อจำกัดไม่สามารถผลักดันได้ตามเป้าหมายที่กำหนดไว้เดิม เช่น ข้อจำกัดด้านงบประมาณ ผลกระทบจากโรคโควิด-19 เป็นต้น

         ทั้งนี้ คณะทำงานฯ ได้มีมติเห็นชอบตัวชี้วัดตามมาตรการปรับปรุงประสิทธิภาพในการปฏิบัติราชการของส่วนราชการ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 และได้ให้ข้อเสนอแนะเพิ่มเติมเกี่ยวกับการกำหนดตัวชี้วัดของส่วนราชการ ดังนี้
           
            - กระทรวงการคลัง ควรนำประเด็นเรื่องการบริหารจัดการหนี้สาธารณะให้อยู่ภายในกรอบวงเงิน และการประเมินประสิทธิภาพของการใช้จ่ายเงินกู้โควิด-19 มาประกอบการพิจารณากำหนดตัวชี้วัดหนี้สาธารณะ ที่กำหนดไว้เป็นตัวชี้วัด Monitor ด้วย
            - กระทรวงพาณิชย์ ควรเพิ่มตัวชี้วัดเกี่ยวกับการช่วยเหลือธุรกิจ SME ที่อยู่ในสถานะล้มละลาย
            - กระทรวงแรงงาน ควรเพิ่มตัวชี้วัดเกี่ยวกับการดูแลแรงงานต่างด้าว
            - กระทรวงศึกษาธิการ ควรพิจารณานำผลการประเมิน PISA มาพิจารณาประกอบการกำหนดตัวชี้วัดด้วย แม้จะไม่มีการประกาศผลทุกปี แต่ส่วนราชการควรวัดผลเกี่ยวกับการดำเนินการเพื่อผลักดันในเรื่องดังกล่าว

         ทั้งนี้ สำนักงาน ก.พ.ร. จะแจ้งความเห็นของคณะทำงานฯ ให้ส่วนราชการ และนำตัวชี้วัดนำเสนอต่อ อ.ก.พ.ร. ประเมินฯ พิจารณา ก่อนเสนอรัฐมนตรีพิจารณาในลำดับต่อไป