สำนักงาน ก.พ.ร. และสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) ได้มีพิธีลงนามความร่วมมือ (MOU) ด้านการนำผลงานวิจัยและนวัตกรรมไปใช้ประโยชน์ ผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์

แชร์หน้านี้


         เมื่อวันที่ 28 กันยายน 2564 สำนักงาน ก.พ.ร. และสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) ได้มีพิธีลงนามความร่วมมือ (MOU) ด้านการนำผลงานวิจัยและนวัตกรรมไปใช้ประโยชน์ ผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ โดยแบ่งออกเป็น 2 ช่วง ดังนี้

         ช่วงแรก เป็นพิธีลงนามความร่วมมือด้านการนำผลงานวิจัยและนวัตกรรมไปใช้ประโยชน์ ระหว่างสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กับ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ โดยมีผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (รศ. ดร.ปัทมาวดี โพชนุกูล) และเลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (นางสาวอ้อนฟ้า เวชชาชีวะ) ร่วมลงนามความร่วมมือระหว่างกัน โดยทั้ง 2 หน่วยงานมีความยินดีที่จะร่วมเป็นภาคีเครือข่ายความร่วมมือ ในการนำผลงานวิจัยและนวัตกรรมไปใช้ประโยชน์ในการพัฒนาระบบราชการ และพัฒนาประเทศต่อไป

          ช่วงที่ 2 เป็นการเสวนา เรื่อง “การขับเคลื่อนการนำผลงานวิจัยและนวัตกรรมไปใช้ประโยชน์ (กรณีการแก้ปัญหาฝุ่นควัน PM 2.5 ในจังหวัดพื้นที่นำร่อง)” วิทยากร ประกอบด้วย 6 ท่าน ได้แก่

          1) ประธาน อ.ก.พ.ร. เกี่ยวกับการบริหารภาครัฐระบบเปิดและการมีส่วนร่วม (ดร. บัณฑูร เศรษฐศิโรตม์)
          2) ผู้แทนจากสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (GISTDA) (นางสาววรนุช จันทร์สุริย์)
          3) ผู้อำนวยการสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย ผู้ทรงคุณวุฒิ สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) (ดร.วิจารย์ สิมาฉายา)
          4) หัวหน้าศูนย์ข้อมูลการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (รศ.ดร.เศรษฐ์ สัมภัตตะกุล)
          5) ผู้จัดการพัฒนานวัตกรรม ฝ่ายนวัตกรรมเพื่อสังคม สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (ดร.อำพล อาภาธนากร)
          6) ผู้อำนวยการศูนย์เชี่ยวชาญ นวัตกรรมเกษตรสร้างสรรค์ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (ดร.รจนา ตั้งกุลบริบูรณ์)

         ผลจาการเสวนา สามารถสรุปได้ดังนี้

         1) ปัจจุบันสำนักงาน ก.พ.ร. ได้มีการพัฒนาแพลตฟอร์มกลางในการเปิดเผยข้อมูล เชื่อมโยงฐานข้อมูล และบูรณาการชุดข้อมูล จำนวน 15 ชุดข้อมูล เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM 2.5) ในจังหวัดสิงห์บุรีและลำปาง เช่น การแสดงให้เห็นภาพแปลงอ้อยที่รถตัดอ้อยสามารถเข้าถึงและเข้าไม่ถึง การสรุปกราฟจำนวนผู้ป่วยจากโรคทางเดินหายใจในพื้นที่ต่าง ๆ เป็นต้น

         2) หน่วยงานต่าง ๆ เช่น สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย มีข้อมูลผลงานวิจัยและนวัตกรรมที่จะสามารถนำมาสนับสนุนการแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM 2.5) ได้ เช่น (1) Dr. Barrier แอปพลิเคชันช่วยตัดสินใจในการชิงเผาเพื่อลดปัญหาไฟป่า (2) Dust Boy : เครื่องตรวจวัดคุณภาพอากาศราคาถูก ที่มีความแม่นยำ 85 % (3) Smoke watch : แอปพลิเคชันแจ้งเตือนและเฝ้าระวังไฟป่าจากการเผาในที่โล่ง (4) เว็บไซต์และแอปพลิเคชันต่าง ๆ ที่มีการรายงานค่าฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM 2.5) เพื่อให้ประชาชนได้ตระหนักรู้ และเตรียมความพร้อมในการรับมือกับปัญหา

         3) การแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM 2.5) มีหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งจำเป็นต้องมีเจ้าภาพที่ดูภาพรวมทั้งหมด และต้องอาศัยการมีส่วนร่วมจากภาคเอกชนและภาคประชาชนเข้ามาร่วมในการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาให้ประสบความสำเร็จ โดยต้องมีการปรับเปลี่ยน ทั้งในด้านเทคโนโลยี การบริหาร พฤติกรรมและความเชื่อของบุคคล