การประชุมหารือเพื่อกำหนดแนวทางการดำเนินงานเกี่ยวกับการพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัล (DOPA-Digital ID)

แชร์หน้านี้


         เมื่อวันที่ 4 ตุลาคม 2564 สำนักงาน ก.พ.ร. นำโดย รองเลขาธิการ ก.พ.ร. (นางอารีย์พันธ์ เจริญสุข) ได้ร่วมกับกรมการปกครอง นำโดย รองอธิบดีกรมการปกครอง (นายสมยศ พุ่มน้อย) ในการประชุมหารือเพื่อกำหนดแนวทางการดำเนินงานเกี่ยวกับการพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัล (DOPA-Digital ID) ซึ่งเป็น 1 ใน 12 งานบริการ e-Service สำคัญ ที่จำเป็นเร่งด่วน ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2564 และถือว่าเป็นโครงสร้างพื้นฐานที่เป็นต้นทางหลักในการให้บริการ e-Service ต่าง ๆ และกรมการปกครองได้กำหนดเป็นตัวชี้วัดตามมาตรการปรับปรุงประสิทธิภาพในการปฏิบัติราชการของกระทรวงมหาดไทยไว้ด้วยแล้ว โดยที่ประชุมได้หารือกรอบและแนวทางการดำเนินการ การกำหนดแผนที่นำทาง (roadmap) ผลผลิตที่จะเกิดขึ้นในแต่ละไตรมาส และหน่วยงานเกี่ยวข้องที่ร่วมดำเนินการ สรุปดังนี้

         ปัจจุบันกรมการปกครองได้จัดทำระบบต้นแบบ คู่มือการใช้งานระบบ DOPA-Digital ID โดยเปิดให้บริการนำร่อง จำนวน 2 งาน ได้แก่ งานตรวจสอบข้อมูลส่วนบุคคล และงานจองคิวออนไลน์ มีผู้ลงทะเบียนใช้งานระบบ จำนวน 4,020 คน ทั้งนี้ มีปัญหาอุปสรรคการดำเนินงานในเรื่องข้อจำกัดของงบประมาณที่ไม่ได้รับการสนับสนุน รวมทั้ง ต้องมีการปรับปรุงแก้ไขกฎหมาย เพื่อรองรับการดำเนินการ ได้แก่ ร่างกฎกระทรวงกำหนดการปฏิบัติงานการทะเบียนราษฎรด้วยระบบดิจิทัล และค่าธรรมเนียม พ.ศ. .... และประกาศสำนักทะเบียนกลาง เรื่อง หลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการแจ้งย้ายที่อยู่ การแก้ไขสถานะเจ้าบ้าน และการมอบหมายเพื่อขอเลขประจำบ้านผ่านระบบดิจิทัล

         สำหรับ Roadmap การดำเนินงาน

         ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 กำหนดเป้าหมายการดำเนินงานไว้ ดังนี้

          - พัฒนาแอพพลิเคชั่น D.DOPA-Digital ID บนมือถือ
          - พัฒนาระบบให้สามารถรองรับผู้ใช้งานได้ จำนวน 100,000 ราย
          - ผลักดันให้การปรับปรุงแก้ไขร่างกฎกระทรวงกำหนดการปฏิบัติงานการทะเบียนราษฎรด้วยระบบดิจิทัลฯ และประกาศสำนักทะเบียนกลางฯ ให้สามารถประกาศใช้
          - ให้บริการเพิ่มเติมในงานแจ้งย้ายปลายทางอัตโนมัติ การแก้ไขหรือเปลี่ยนแปลงสถานะเจ้าบ้าน และการมอบหมายเพื่อขอเลขประจำบ้านผ่านระบบดิจิทัล
          - หน่วยงานภายนอกนำระบบ D.DOPA-Digital ID ไปใช้ประโยชน์ในการให้บริการประชาชน จำนวน 10 หน่วยงาน

         ปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 จะพัฒนาระบบให้ผู้รับบริการสามารถลงทะเบียนได้เองผ่าน Face Verification Service ระบบที่รองรับผู้ใช้บริการได้ทั่วประเทศ และเพิ่มงานบริการ เช่น การขอเลขที่บ้าน การตรวจ คัด และรับรองเอกสารการทะเบียนราษฎร
         และภายในปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 จะพัฒนาเกี่ยวกับ e-Signature e-Certificate e-Payment e-Receipt รวมทั้งเพิ่มงานบริการ เช่น การขอออกใบแทนใบย้าย การแจ้งรื้อถอนบ้านหรือบ้านถูกทำลาย การรับแจ้งเอกสารทะเบียนราษฎรที่สูญหายหรือถูกทำลาย การขอเลขที่บ้าน เป็นต้น

         ทั้งนี้ กรมการปกครองจะจัดทำแผน Roadmap และแผนปฏิบัติการ พัฒนางานบริการ เพื่อกำหนดทิศทางการขับเคลื่อนการดำเนินงานได้ชัดเจนขึ้น โดยจะจัดส่งมายังสำนักงาน ก.พ.ร. ภายในระยะเวลาที่กำหนดต่อไป