สำนักงาน ก.พ.ร. ได้ดำเนินกิจกรรมรับฟังความคิดเห็นสาธารณะ “การก้าวไปสู่การเป็นรัฐบาลเปิด (Open Government) ในประเทศไทย” เพื่อรับฟังความคิดเห็นของทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคธุรกิจ ภาคการศึกษา และภาคประชาชนเข้าร่วมกิจกรรม

แชร์หน้านี้



         เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2564 สำนักงาน ก.พ.ร. ได้ดำเนินกิจกรรมรับฟังความคิดเห็นสาธารณะ “การก้าวไปสู่การเป็นรัฐบาลเปิด (Open Government) ในประเทศไทย” เพื่อรับฟังความคิดเห็นของทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคธุรกิจ ภาคการศึกษา และภาคประชาชนเข้าร่วมกิจกรรม โดยมี ดร.นิชา สาทรกิจ ผู้อำนวยการกองยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบราชการ กล่าวถึงภาพรวมและวัตถุประสงค์ของการพัฒนารัฐบาลเปิด เรามุ่งเน้นที่จะให้ประชาชนเป็นศูนย์กลาง และเปิดกว้างเชื่อมโยงถึงกัน ซึ่งการมีส่วนร่วมจะเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ภาครัฐมีการขับเคลื่อนด้วยข้อมูล (Data-driven)

         ภาพรวมการนำเสนอโครงการวิเคราะห์สภาวการณ์การบริหารงานภาครัฐแบบองค์รวมและการมองภาครัฐแห่งอนาคต โดย

         1. รศ.พ.ต.ต.ดร. ดนุวศิน เจริญ ผู้อำนวยการศูนย์นวัตกรรมทางธุรกิจ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์
         2. ผศ.ดร.ธัญรัตน์ อมรเพชรกุล รองคณบดีฝ่ายบริหาร คณะบริหารธุรกิจ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์
         3. ผศ.ดร.ปนันดา จันทร์สุกรี อาจารย์ประจำคณะรัฐประศาสนศาสตร์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์

         สาระสำคัญประกอบด้วย

         - รัฐบาลเปิดเป็นเครื่องมือสำคัญที่จะนำไปสู่การบรรลุเป้าหมายเชิงนโยบาย เช่น ธรรมาภิบาล (Good Governance)
         - ประชาชนและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกกลุ่มควรมีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็นที่จะนำไปสู่การกำหนดนโยบายและร่างกฎหมาย เพื่อสร้างความเชื่อมั่นและไว้วางใจของประชาชนต่อภาครัฐ
         - การเปิดเผยข้อมูลภาครัฐควรเป็นไปตามความต้องการที่แท้จริงของผู้ใช้ และอยู่ในรูปแบบที่สามารถสืบค้นและนำไปใช้ประโยชน์ได้ง่าย

         บทบาทและการส่วนร่วมของภาครัฐ ภาคธุรกิจ ภาคการศึกษา และภาคประชาชน ในการขับเคลื่อนรัฐบาลเปิด โดย

         1. คุณณรงค์ศักดิ์ โอสถธนากร ผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง (ตัวแทนภาครัฐ)
         2. คุณรวิศ หาญอุตสาหะ CEO ศรีจันทร์ และเจ้าของเพจและพอดแคสต์ Mission To The Moon (ตัวแทนภาคธุรกิจ)
         3. ดร.ดาริกา ลัทธิพิพัฒน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ (ตัวแทนภาคการศึกษา)
         4. คุณณัฐพร จาตุศรีพิทักษ์ ประธานกรรมการบริหาร Thailand Future Foundation (ตัวแทนภาคประชาชน)

         สาระสำคัญประกอบด้วย

         - Open Government ว่าไม่ใช่เพียงเรื่อง Digital แต่หมายถึงข้อมูลข่าวสารที่เข้าถึงได้ ซึ่งมีคำสำคัญ 4 คำ คือ 1) ความโปร่งใส 2) ความซื่อสัตย์ 3) ความรับผิดชอบ 4) การมีส่วนร่วม
         - ภาคธุรกิจอยากรู้ Exit strategy ของภาครัฐ เพื่อใช้ในการวางแผนการดำเนินธุรกิจ
         - การขาด Labor Market Information บัณฑิตจบมาไม่ตรงตามความต้องการของตลาดแรงงาน เพราะไม่มีระบบการจัดเก็บข้อมูลที่มีประสิทธิภาพ
         - การเปิดข้อมูลกันเองก่อนระหว่างหน่วยงาน เพื่อเป็นข้อมูลชุดเดียวและมีความถูกต้อง
         - ทุกคนควรมีส่วนร่วม และควรรู้ทุกขั้นตอนในการทำงานของรัฐ และเปิดโอกาสให้ภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมในสิ่งที่รัฐไม่ถนัด
         - การเปิดเผยข้อมูลสู่สาธารณะเพื่อสร้างความโปร่งใส ตรวจสอบได้ เกิดการมีส่วนร่วม และการรับฟังเสียงของประชาชน

         ทั้งนี้ ในช่วงบ่ายได้มีการจัดกิจกรรมระดมความคิดเห็นในเรื่องการเป็นรัฐบาลเปิดจากผู้เข้าร่วมกิจกรรมในแต่ละภาคส่วน เพื่อนำความคิดเห็นในครั้งนี้ไปวิเคราะห์และสังเคราะห์เป็นหลักการชี้แนะการเป็นรัฐบาลเปิดในประเทศไทย ซึ่งจะมีการจัดกิจกรรมเพื่อเผยแพร่หลักการชี้แนะดังกล่าวในช่วงเดือนกันยายนต่อไป