MY BETTER COUNTRY HACKATHON ครั้งที่ 11 : อนาคตที่ออกแบบได้กับราชการไทยที่อยากเห็น

แชร์หน้านี้


         จบไปแล้ว!! กับการเปิดเวทีให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนางานภาครัฐ ครั้งนี้เป็นการระดมไอเดียกันอย่างสนุกสนาน กิจกรรมในครั้งนี้สำนักคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ หรือ สำนักงาน ก.พ.ร. จะนำไอเดียเจ๋ง ๆ ไปดำเนินการให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรมต่อไป

         เมื่อวันที่ 11 มิถุนายน 2565 สำนักงาน ก.พ.ร. ได้จัดกิจกรรม MY BETTER COUNTRY HACKATHON ครั้งที่ 11 : อนาคตที่ออกแบบได้กับราชการไทยที่อยากเห็น ในรูปแบบระบบออนไลน์ โดยได้รับความสนใจจากผู้เข้าร่วมจากวงการต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นภาคเอกชน และบุคลากรจากหน่วยงานภาครัฐ กว่า 60 คน ใช้เวลากว่า 8 ชั่วโมง ร่วมระดมความคิดเห็นและนำเสนอไอเดียในการพัฒนาราชการไทยในอนาคต ทั้งเรื่องบริการภาครัฐ โครงสร้าง ภาครัฐดิจิทัลและกำลังคนภาครัฐ

         เริ่มต้นเปิดตัวกิจกรรมด้วย

         นายบัณฑูร เศรษฐศิโรตม์ ประธานอนุกรรมการพัฒนาระบบราชการเกี่ยวกับการส่งเสริมการบริการภาครัฐระบบเปิดและการมีส่วนร่วม ได้กล่าวถึงความเป็นมาของกิจกรรมในครั้งนี้ พร้อมทั้งยกตัวอย่างข้อเสนอของประชาชนที่หน่วยงานภาครัฐนำไปขับเคลื่อนให้เกิดผลในปัจจุบัน อย่าง การจัดกิจกรรมMY BETTER COUNTRY HACKATHON ที่จังหวัดลำปาง ภายใต้ลำปางสดใส ลดฝุ่น PM 2.5

          นอกจากนี้ นางสาวอ้อนฟ้า เวชชาชีวะ เลขาธิการ ก.พ.ร ได้กล่าวให้เห็นถึงภาพรวมภารกิจของสำนักงาน ก.พ.ร. ตลอดจนโจทย์ที่อยากจะเชิญชวนให้ผู้สนใจเข้าร่วมคิด และออกแบบ เพื่อพัฒนาราชการไทยในอนาคต 4 โจทย์หลัก คือ (1) การบริการภาครัฐที่ตอบโจทย์ (2) การบริหารจัดการและโครงสร้างภาครัฐที่รองรับการเปลี่ยนแปลง (3) การเป็นรัฐบาลดิขิทัล ใช้ข้อมูลเพื่อการพัฒนาประเทศ (4) ระบบการบริหารคนภาครัฐที่ดึงดูด “คนเก่งและรักษาคนดี”

          สำหรับในช่วงการนำเสนอผลการระดมไอเดียทั้ง 4 โจทย์ นางอารีย์พันธ์ เจริญสุข รองเลขาธิการ ก.พ.ร. ได้เข้าร่วมรับฟังและให้ความเห็น

          4 ผลงานที่พร้อมนำไปปฏิบัติให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม

          1. SGSIC Seamless Goverment Service Integration Center หน่วยงานบูรณาการการบริการภาครัฐแบบไร้รอยต่อ เพื่อลดขั้นตอนการทำงานระหว่างหน่วยงาน ประชาชนเข้าถึงได้ง่าย โปร่งใส ตรวจสอบได้ เห็นถึงความคุ้มค่าของโครงการที่รัฐแจกจ่ายงบประมาณในแต่ละภาคส่วน รวมทั้ง ลดค่าใช้จ่ายงบประมาณของภาครัฐ โดยอาจมีการนำร่องในหน่วยงานที่เกี่ยวกับหมุดหมายที่ 13 ของร่างแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 (พ.ศ.2566 - 2570) ก่อน แล้วค่อยขยายไปยังหน่วยงานอื่น ๆ ต่อไป

          2. ปฏิรูปโครงสร้างระบบบริการสาธารณสุข : ระบบสุขภาพปฐมภูมิ โดยการมีนโยบายบูรณาการทำงานด้านสาธารณสุขปฐมภูมิ และพัฒนา Single Platform ที่นำระบบดิจิทัลเข้ามาใช้ ให้ประชาชนมีข้อมูลในการเลือกและตัดสินใจเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพของตนเองได้ ภาครัฐเองก็จะมีข้อมูลบริหารจัดการทรัพยากรได้อย่างมีประสิทธิภาพด้วย

          3. การนำเกณฑ์คุณภาพการบริหารจัดการภาครัฐ PMQA มาปรับใช้ และ นำดิจิทัลมาปรับให้ทันสมัย ทันต่อสถานการณ์ เพื่อลดขั้นตอนการทำงาน โดยเน้น 4 ใช่ คือ คนที่ใช่ เครื่องมือที่ใช่ ข้อมูลที่ใช่ ซึ่งจะนำไปสู่การบริการที่ใช่ในที่สุด

          4. โครงการซุปเปอร์ฮีโร่ เพื่อที่จะสร้างคนที่จะอยู่ในองค์กร ดึงดูดคนเก่งและรักษาคนดีเอาไว้ โดยมี 4 ขั้นตอนหลัก ดังนี้ 1) สร้างคน ตั้งแต่การสรรหา รวมถึงการพัฒนาศักยภาพขณะอยู่ในระบบราชการ 2) ระบบบริหารจัดการที่มีความโปร่งใส และมีความยืดหยุ่น 3) องค์กรที่ให้ความสำคัญกับการนำเทคโนโลยีมาใช้ และ 4) สิ่งแวดล้อมที่ตอบสนองความต้องการของคนทุกกลุ่ม ซึ่งทั้งหมดนี้จะทำให้บุคลากรภาครัฐมีความสุขมากขึ้น ส่งผลให้ประชาชนจะได้รับการบริการที่ดีขึ้น

          สำหรับการดำเนินการต่อไป สำนักงาน ก.พ.ร. จะได้รวบรวมข้อมูลที่ได้จากกิจกรรมนี้ ไปประกอบการจัดทำกรอบยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบราชการ (พ.ศ. 2566 - 2570) อันจะเป็นทิศทางการพัฒนาระบบราชการในอนาคตต่อไป