การประชุมเชิงปฏิบัติการเรื่องการขับเคลื่อนตามกรอบการประเมินบรรยากาศของการดำเนินธุรกิจและการลงทุน (Business Enabling Environment: BEE) ของธนาคารโลก (ด้านแรงงาน)

แชร์หน้านี้


         เมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2566 สำนักงาน ก.พ.ร.ได้จัดประชุมเชิงปฏิบัติการเรื่องการขับเคลื่อนตามกรอบการประเมินบรรยากาศของการดำเนินธุรกิจและการลงทุน (Business Enabling Environment: BEE) ของธนาคารโลก (ด้านแรงงาน) กับภาคเอกชนเพื่อสร้างการรับรู้เกี่ยวกับรายงาน BEE และความก้าวหน้าในการดำเนินการของภาครัฐ รวมถึงรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะจากภาคเอกชนที่เกี่ยวข้อง โดยมีรองเลขาธิการ ก.พ.ร. (นางอารีย์พันธ์ เจริญสุข) เป็นประธานการประชุม และมีผู้แทนจากสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สภาองค์การนายจ้างแห่งประเทศไทย และสภาองค์การลูกจ้างแรงงานแห่งประเทศไทยเข้าร่วมการประชุม โดยมีรายละเอียดการประชุม สรุปได้ดังนี้

         รองเลขาธิการ ก.พ.ร. (นางอารีย์พันธ์ เจริญสุข) กล่าวต่อที่ประชุมว่า ตลอด16 ปีที่ผ่านมา (ปี 2004-2020) ประเทศไทยมีการปฏิรูปเพื่อการอำนวยความสะดวกในการประกอบธุรกิจจำนวน 39 การปฏิรูปภายใต้กรอบการประเมินความยาก-ง่ายในการประกอบธุรกิจ (Doing Business) ของธนาคารโลก ซึ่งได้สร้างการเปลี่ยนแปลงและเป็นแรงกระตุ้นให้ภาครัฐปรับตัวเป็นอย่างมาก ต่อมาธนาคารโลกได้ประกาศแนวทางใหม่สำหรับการประเมินบรรยากาศของการดำเนินธุรกิจและการลงทุน (Business Enabling Environment: BEE) โดยประเทศไทยจะถูกวัดอยู่ในรายงานฉบับที่ 3 ซึ่งจะเริ่มเก็บข้อมูลในช่วงเดือนตุลาคม 2567 – ตุลาคม 2568 และประกาศผลในเดือนเมษายน 2569 อย่างไรก็ดี ภาครัฐจะมีการขับเคลื่อนเพื่อให้เกิดการพัฒนาอย่างต่อเนื่องและส่งเตรียมความพร้อมของประเทศไทยในการประเมินบรรยากาศของการดำเนินธุรกิจและการลงทุน (Business Enabling Environment: BEE) ของธนาคารโลก

         การประเมินบรรยากาศของการดำเนินธุรกิจและการลงทุน (Business Enabling Environment: BEE) ของธนาคารโลก ธนาคารโลกได้ประกาศกรอบการประเมินบรรยากาศของการดำเนินธุรกิจ และการลงทุน (Business Enabling Environment: BEE) ของธนาคารโลกทดแทนรายงานความยาก-ง่ายในการประกอบธุรกิจ (Doing Business) โดยมีการประเมิน 10 ด้านที่ครอบคลุมวงจรการประกอบธุรกิจ

         ความแตกต่างระหว่างรายงาน BEE และ Doing Business รายงาน BEE มีด้านใหม่ในการประเมิน 2 ด้าน ได้แก่ด้านแรงงาน (Labor) และด้านการแข่งขันทางการตลาด (Market competition) และรายงาน BEE จะเพิ่มประเด็นสำคัญ (Critical themes) 3 เรื่องที่เป็นทิศทางการประกอบธุรกิจในอนาคต ได้แก่ การนำเทคโนโลยีมาใช้ (Digital adoption) ความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม (Environmental sustainability) และความเสมอภาคทางเพศ (Gender equality)

         ด้านแรงงาน (Labor) รายละเอียดการประเมินด้านแรงงานประกอบไปด้วย 3 ตัวชี้วัดย่อย ได้แก่ 1) กรอบการกำกับดูแลที่จะประเมินด้านกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับสิทธิแรงงาน การจ้างงาน และความเสมอภาคทางเพศ 2) การบริการภาครัฐจะประเมินการบริการของภาครัฐที่เกี่ยวข้องกับการจัดการด้านแรงงานตั้งแต่การเข้าถึงแรงงานจนถึงการจัดการกรณีพิพาท และ 3) ประสิทธิภาพจะประเมินขั้นตอน ระยะเวลา ค่าใช้จ่ายของการจัดการด้านแรงงาน

         ความก้าวหน้าในการขับเคลื่อนด้านแรงงาน หน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีการพัฒนาที่น่าสนใจหลายเรื่อง เช่น การจัดทำร่าง พ.ร.บ. จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... โดยมีวัตถุประสงค์ให้ผู้พิพากษาที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญด้านคดีแรงงานมีอำนาจพิจารณาคดีอาญาที่เกี่ยวกับแรงงานอันเป็นการคุ้มครองสิทธิคู่ความ การปรับปรุงร่าง พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงานเพื่อกำหนดให้สามารถนำงานไปทำที่บ้านของลูกจ้างได้ และกำหนดรูปแบบของสัญญาให้เป็นรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ได้ และการขยายช่องทางการจ่ายเงินกองทุนทดแทนผ่าน Promtpay จะเริ่มให้บริการได้ตั้งแต่ 1 มี.ค. 66

         ภาคเอกชนได้แสดงความคิดเห็นและข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการประเมินรายงาน BEE ด้านแรงงาน สรุปได้ดังนี้

          1) ฐานข้อมูลแรงงาน ประเทศไทยมีระบบฐานข้อมูลแรงงานและระบบการจับคู่นายจ้างและลูกจ้าง แต่ระบบดังกล่าวยังไม่ค่อยแพร่หลาย ขาดข้อมูลที่สำคัญ และการเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เช่น การพัฒนาทักษะแรงงาน จำนวนความต้องการแรงงาน ซึ่งภาคเอกชนเสนอแนะว่าควรพัฒนาระบบฐานข้อมูลแรงงานให้มีข้อมูลที่ครบถ้วน ทันสมัย และครอบคลุมแรงงานต่างชาติ แรงงานนอกระบบ นอกจากนี้ควรพัฒนาให้ระบบสามารถเชื่อมโยงข้อมูลเพื่อการวิเคราะห์ความต้องการของตลาดแรงงานเพื่อชี้นำให้นักเรียน นักศึกษาเลือกการเรียนที่เหมาะสมได้

          2) การขาดแคลนแรงงงาน ในปัจจุบันประเทศไทยประสบปัญหาการขาดแคลนแรงงาน โดยเฉพาะแรงงานไร้ฝีมือ ทำให้ต้องนำเข้าแรงงานต่างด้าวจนส่งผลต่อต้นทุนการดำเนินการ อีกทั้งปัญหาการขาดแคลนแรงงานยังลามมาถึงแรงงานทักษะ เนื่องจากการเลือกการเรียนไม่ตรงกับความต้องการของตลาด ดังนั้น ภาคเอกชนเสนอแนะให้มีการทำจับคู่แรงงาน พัฒนาทักษะ Soft Skill และนำเข้าแรงงานทักษะจากต่างประเทศ รวมทั้งการจัดการแรงงานต่างด้าวที่มีประสิทธิภาพ

          3) สิทธิแรงงาน ภาคเอกชนให้ข้อมูลว่าประเทศไทยมีความก้าวหน้าด้านการคุ้มครองสิทธิแรงงาน และยังมีความร่วมมือกับองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (International Labour Organization : ILO) เพื่อพัฒนาการคุ้มครองสิทธิแรงงาน อย่างไรก็ดี ยังพบว่ามีปัญหาเรื่องสิทธิแรงงานที่ยังไม่ครอบคลุมถึงแรงงานของกลุ่มเปราะบางคนพิการ แรงงานข้ามชาติ แรงงานผู้สูงอายุ แรงงานรับจ้างเหมาช่วง (Subcontract) และแรงงานอิสระ (Freelance) หรือแรงงานในอาชีพใหม่ ๆ ที่จะเป็นกรอบการประเมินในรายงาน BEE

          4) การบริการภาครัฐ ประเทศไทยมีบริการภาครัฐด้านแรงงานและประกันสังคมที่มีความครอบคลุม และมีการให้บริการแบบ e-Service แต่ภาคเอกชนยังเห็นว่าการติดต่อราชการ โดยเฉพาะเรื่องแรงงานต่างด้าวยังไม่สะดวก จึงควรหาแนวทางในการอำนวยความสะดวกของการบริการภาครัฐดังกล่าว และเชื่อมโยงให้เกิดการให้บริการระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง (Interoperability) ทั้งนี้ ข้อเสนอแนะที่ได้จากการประชุม สำนักงาน ก.พ.ร. จะรวบรวมและศึกษาในรายละเอียดเพื่อกำหนดเป็นแนวทางในการขับเคลื่อนการปรังปรุงประสิทธิภาพการให้บริการด้านแรงงาน และเสนอรองนายกรัฐมนตรี (นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์) เพื่อพิจารณาต่อไป