การประชุมรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับร่าง วิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ระยะเริ่มต้นตามพระราชบัญญัติการปฏิบัติราชการทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2565

แชร์หน้านี้


         เมื่อวันจันทร์ที่ 30 มกราคม 2566 สำนักงาน ก.พ.ร. ได้จัดการประชุมรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับร่าง วิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ระยะเริ่มต้นตามพระราชบัญญัติ การปฏิบัติราชการทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2565 ผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งเป็นการดำเนินการตามมาตรา 19 แห่งพระราชบัญญัติการปฏิบัติราชการทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2565 โดยมีนางอารีย์พันธ์ เจริญสุข รองเลขาธิการ ก.พ.ร. พร้อมด้วย ดร.อาศิส อัญญะโพธิ์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล รักษาการผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาแพลตฟอร์มดิจิทัลประชาชน และนายปณตภร จงธีรโชติ ผู้แทนสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ตลอดจนผู้แทนส่วนราชการ ผู้แทนสมาคม อปท. 3 สมาคม และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เข้าร่วมประชุมผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ มากกว่า 750 คน

         รองเลขาธิการ ก.พ.ร. ได้กล่าวถึงแนวทางการดำเนินการตามพระราชบัญญัติฯ ภายหลังจากประกาศในราชกิจจานุเบกษา พร้อมทั้งระบุถึงการจัดทำวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ตามมาตรา 19 ของกฎหมาย และวัตถุประสงค์ของการรับฟังความคิดเห็น รวมทั้งแผนการดำเนินการเกี่ยวกับวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ ที่จะต้องเสนอคณะรัฐมนตรีภายใน 240 วันนับแต่กฎหมายมีผลใช้บังคับ

         ดร.อาศิส อัญญะโพธิ์ ได้กล่าวสรุปสาระสำคัญของ ร่างวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ระยะเริ่มต้น สำหรับหน่วยงานที่มีความพร้อมทั้งในระดับเริ่มต้น (Basic) และระดับมาตรฐาน (Standard) ที่ครอบคลุมกระบวนการตามมาตรฐานว่าด้วยแนวปฏิบัติกระบวนการทางดิจิทัลภาครัฐ โดยในระดับเริ่มต้นจะให้คำแนะนำตั้งแต่การจดทะเบียนโดเมนเนม จนถึงการออกใบอนุญาต และการจัดเก็บฐานข้อมูลการอนุญาต ขณะที่ระดับมาตรฐาน จะกล่าวถึงการใช้เว็บไซต์และแอปพลิเคชัน ที่มีการกำหนดคุณสมบัติขั้นต่ำในการรองรับกระบวนการต่าง ๆ

         ภายหลังจากการรับฟังการชี้แจงเกี่ยวกับร่างวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ระยะเริ่มต้นแล้ว ที่ประชุมได้มีความเห็น ดังนี้

           1. ควรมีการระบุรายละเอียดความปลอดภัยทางไซเบอร์ (Cyber Security) ในวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ด้วย เนื่องจากปัจจุบันมีการหลอกลวงหรือฉ้อโกงประชาชนเป็นจำนวนมาก
           2. การกำหนดวิธีการฯ สำหรับหน่วยงานระดับเริ่มต้น จะต้องระบุรายละเอียดให้ชัดเจนว่า เรื่องใดดำเนินการได้ เรื่องใดไม่ควรปฏิบัติ หรือเรื่องใดเป็นข้อห้าม
           3. ส่วนกลางควรจัดทำระบบให้รองรับการอนุญาตหรือการดำเนินการของส่วน ภูมิภาคและส่วนท้องถิ่น เนื่องจากหน่วยงานในส่วนภูมิภาคและส่วนท้องถิ่นมีความพร้อมที่แตกต่างกัน

         ทั้งนี้ หากหน่วยงานมีข้อคิดเห็นหรือข้อเสนอแนะเพิ่มเติม สามารถส่งความคิดเห็นเพิ่มเติมได้ทางอีเมล dx@opdc.go.th โดยทั้ง 4 หน่วยงาน (ส.ก.พ.ร. สคก. สพร. และ สพธอ.) จะนำความเห็นที่ได้รับไปปรับปรุงวิธีการฯ ก่อนดำเนินการตามขั้นตอนเพื่อเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาต่อไป