การขับเคลื่อนการเสริมสร้างระบบนิเวศภาครัฐระบบเปิดและการมีส่วนร่วมอย่างมีความหมาย ในการแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM 2.5) และศึกษาดูงาน มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

แชร์หน้านี้


         เมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม 2566 ในช่วงเช้า สำนักงาน ก.พ.ร. จัดการประชุมเรื่องการขับเคลื่อนการเสริมสร้างระบบนิเวศภาครัฐระบบเปิดและการมีส่วนร่วมอย่างมีความหมาย ในการแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM 2.5) ณ ห้องประชุม 3 ชั้น 3 อาคารอำนวยการ ศาลากลางจังหวัดเชียงใหม่ ประกอบด้วย รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ (นายชัชวาลย์ ปัญญา และนายวีรพงศ์ ฤทธิ์รอด) รองประธานคณะกรรมาธิการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (นายวีระศักดิ์ โควสุรัตน) อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุพืช (นายอรรถพล เจริญชันษา) ประธาน อ.ก.พ.ร. เกี่ยวกับการส่งเสริมบริหารภาครัฐระบบเปิดและการมีส่วนร่วม (นายบัณฑูร เศรษฐศิโรตม์) รองเลขาธิการ ก.พ.ร. (นางอารีย์พันธ์ เจริญสุข) อนุกรรมการฯ (นางสาวธีรดา ศุภะพงษ รศ.ดร.สุดสวาสดิ์ ดวงศรีไสย์ และนายสุนิตย์ เชรษฐา) เจ้าหน้าที่สำนักงาน ก.พ.ร

         โดยมีหน่วยงานภาคีเครือข่าย ได้แก่ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์มหาชน) กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช สภาลมหายใจเชียงใหม่ มูลนิธิธรรมรัฐเพื่อการพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม มูลนิธิพัฒนาภาคเหนือ สถาบันส่งเสริมและพัฒนากิจกรรมปิดทองหลังพระ สืบสานแนวพระราชดำริ บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) และคณะกรรมการแก้ไขปัญหาไฟป่าและฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 แบบบูรณาการ จังหวัดเชียงใหม่

         สรุปสาระการประชุมได้ ดังนี้

         1. สำนักงาน ก.พ.ร. จะร่วมกับภาคีเครือข่ายดำเนินการขับเคลื่อนการเสริมสร้างระบบนิเวศภาครัฐระบบเปิดและการมีส่วนร่วมอย่างมีความหมาย ในการแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM 2.5) ใน 2 พื้นที่ ได้แก่ อุทยานแห่งชาติดอยสุเทพ – ปุย และอำเภอแม่แจ่ม ในรูปแบบ “Government Innovation Lab” หรือ พื้นที่ปฏิบัติการนวัตกรรมภาครัฐ

         2. แนวทางการขับเคลื่อนฯ ประกอบด้วย 8 แนวทางหลักที่สำคัญ ซึ่งจะมีการดำเนินการในรูปแบบเดียวกันและแตกต่างกันตามบริบทของแต่ละพื้นที่ เช่น

             1) การพัฒนาระบบฐานข้อมูลและเครือข่าย ได้แก่ การพัฒนาระบบฐานข้อมูลเพื่อใช้ประโยชน์ข้อมูลร่วมกันระหว่างหน่วยงาน ทำให้เกิดการวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อการวางแผนจัดการ PM 2.5

             2) การจัดการไฟในพื้นที่ป่า โดยการศึกษาสาเหตุการเกิดไฟ กำหนดกติกาเรื่องการใช้ประโยชน์จากป่า ตามมาตรา 65 ชุมชนร่วมวางแผนจัดทำแนวทางป้องกัน /ดับไฟร่วมกับอุทยานฯ/กรมป่าไม้ ส่งเสริมกิจกรรมป้องกันและลดความเสี่ยงการเกิดไฟ (แนวกันไฟ, การบริหารจัดการเชื้อเพลิง) การปรับเปลี่ยนอาชีพ ผลักดันการออกพระราชกฤษฎีกา ตามมาตรา 64 และ 65

             3) การจัดการไฟในพื้นที่เกษตร โดยการจัดทำฐานข้อมูลรายแปลง ข้อมูล TP-MAP ระบบเกษตรไม่เผา (เปลี่ยนระบบการปลูก/การเกษตร เปลี่ยนวิธีจัดการเศษวัสดุการเกษตร มาตราการจูงใจ PES ระบบน้ำ ฯลฯ) ระบบสนับสนุนการปรับเปลี่ยน ระบบรับรอง GAP - PM 2.5 Free ระบบตรวจสอบย้อนกลับ ระบบการจัดการไฟ (FireD/Bern Check)

             4) การจัดการพื้นที่ คทช. โดยการพัฒนาระบบเกษตรแบบไม่เผา การกำหนดเงื่อนไขการได้สิทธิการใช้ประโยชน์ที่ดิน

             5) การพัฒนาระบบติดตาม โดยใช้เครื่องมือ เทคโนโลยี ติดตามความก้าวหน้าผลการปฏิบัติงานตามแผน เช่น ดาวเทียม Low Cost Sensor

             6) การกำหนดตัวชี้วัด โดยกำหนดตัวชี้วัดระดับจังหวัดและระดับพื้นที่ ซึ่งแตกต่างกันใน 2 พื้นที่ การวัด Input Process Output Outcome แยกตาม Stakeholder ที่รับผิดชอบในแต่ละกิจกรรม รวมทั้งมีการทำวิจัยเพื่อกำหนดตัวชี้วัดที่เหมาะสม

             7) การสร้างกลไกการบริหารจัดการ โดยดำเนินการขับเคลื่อนในรูปแบบคณะทำงานที่มีการเชื่อมโยงทั้งในระดับส่วนกลางและพื้นที่

             8) การพัฒนาชุดความรู้และงานวิชาการเกี่ยวการจัดการไฟ ไร่หมุนเวียน และการสื่อสารสาธารณะ

         ช่วงบ่าย คณะได้เดินทางเข้าศึกษาดูงาน ณ ศูนย์ข้อมูลการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change Data Center) มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ สรุปสาระสำคัญได้ดังนี้

         มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มีงานวิจัยเพื่อสนับสนุนการแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศในภาคเหนือจำนวนมาก เช่น การวิเคราะห์มลพิษ PM 2.5 ข้ามแดน การประเมินปริมาณฝุ่น PM 2.5 ในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ ระบบติดตามคุณภาพอากาศ แบบ Real Time ด้วย low cost sensor ระบบติดตามค่าฝุ่น PM 2.5 ระบบสนับสนุนการจัดการเชื้อเพลิงเพื่อสนับสนุนการทำงานของภาครัฐ (ระบบ FireD) นวัตกรรมห้องปลอดฝุ่น การวิเคราะห์แหล่งกำเนิดของฝุ่น กลไกการจ่ายค่าตอบแทนบริการระบบนิเวศ (PES) ในการแก้ไขปัญหาไฟป่า หมอกควัน การบริหารจัดการป่าอนุรักษ์แบบมีส่วนร่วม การพัฒนาระบบและกลไกสนับสนุนทางเศรษฐศาสตร์เพื่อการจัดการสิ่งแวดล้อม ฯลฯ ซึ่งผลงานวิจัยต่าง ๆ สามารถนำมาช่วยยกระดับการแก้ไขปัญหา PM 2.5 ด้วยฐานข้อมูลงานวิจัยได้

         NEXT STEP : จัดตั้งคณะทำงานเฉพาะกิจ โดยมีภาคีเครือข่ายความร่วมมือจากทุกภาคส่วน เพื่อสร้างความร่วมมือในการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหา PM 2.5 ในพื้นที่ปฏิบัติการได้อย่างมีประสิทธิภาพ