การประชุมนำเสนอผลการศึกษาโครงการศึกษาเพื่อขับเคลื่อนการอำนวยความสะดวกในการประกอบธุรกิจระยะที่ 3: ผลการศึกษาและข้อเสนอแนะในการพัฒนาระบบ NSW ของไทย

แชร์หน้านี้


         เมื่อวันพุธที่ 24 พฤษภาคม 2566 สำนักงาน ก.พ.ร. โดยนางอารีย์พันธ์ เจริญสุข รองเลขาธิการ ก.พ.ร. และเจ้าหน้าที่สำนักงาน ก.พ.ร. เข้าร่วมประชุมการนำเสนอผลการศึกษาและข้อเสนอแนะในการพัฒนาระบบ NSW ของไทย ณ ธนาคารโลก สำนักงานประจำประเทศไทย ชั้น 30 อาคารสยามพิวรรธน์ ทาวเวอร์ ซึ่งการศึกษาดังกล่าวอยู่ภายใต้โครงการศึกษาเพื่อขับเคลื่อนการอำนวยความสะดวกในการประกอบธุรกิจระยะที่ 3 สรุปสาระสำคัญ ดังนี้

         1. คำจำกัดความของ Single Window อ้างอิงตาม UN CEFACT คือ Single Window จะต้องประกอบด้วยการมีส่วนร่วมของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องในกระบวนการทางการค้าและการขนส่ง มีจุดบริการ "การยื่นแบบครั้งเดียว (single submission)" แบบอิเล็กทรอนิกส์ในระบบข้อมูลทางการค้าเพียงที่เดียว มีกรอบกฎหมายที่ชัดเจนอ้างอิงได้ และต้องใช้มาตรฐานที่เป็นที่ยอมรับในระดับสากลในการแลกเปลี่ยนข้อมูลและเอกสารระหว่างคู่สัญญา

         2. ข้อค้นพบและข้อเสนอแนะของธนาคารโลก แบ่งได้ 3 ประเด็น ได้แก่

             1) โมเดลในการดำเนินงาน (Functional Model) ของระบบ NSW: National Single Window (NSW) ของประเทศไทย จุดเด่นหลายประการเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่น แต่ยังคงมีช่องว่างในกระบวนการทำงานร่วมกันระหว่างกรมศุลกากรกับหน่วยงานภาครัฐอื่น ๆ ในปัจจุบัน National Single Window ของประเทศไทยยังไม่สอดคล้องกับรูปแบบ "การยื่นแบบครั้งเดียว (single submission)" ที่กำหนด ซึ่งรูปแบบดังกล่าวจะช่วยให้เกิดความสะดวก ความเร็ว ลดค่าใช้จ่ายในการดำเนินการลงได้อย่างมาก และลดการป้อนข้อมูลที่ซ้ำซ้อนระหว่างหน่วยงานต่าง ๆ ของรัฐ และปัญหาบทบาทที่ทับซ้อนกันของผู้ให้บริการเสริม (Value Added Service providers - VASs) และบริษัทโทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) (NT)
             2) โครงสร้างธรรมาภิบาล (Governance Structure) ในการกำกับดูแลระบบ NSW: ปัจจุบันมี คณะอนุกรรมการพัฒนานโยบายและกำกับดูแลระบบ National Single Window (NSW) และคณะทำงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง และมีบริษัทโทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) เป็นผู้ดำเนินการ ซึ่งพบว่ายังไม่มีข้อตกลงระดับบริการ (Service Level Agreement - SLA) ที่ระบุอย่างชัดเจนที่จะเป็นมาตรฐานในการทำงานร่วมกับภาครัฐ รวมถึงให้ภาคเอกชนทราบถึงระยะเวลาของการให้บริการ และต้องมีการบริหารจัดการความเสี่ยงในการทำงาน
             3) กฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้อง (Legislation): ธนาคารโลกได้ศึกษาและจัดทำข้อเสนอแนะในการปรับปรุงกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาระบบ National Single Window โดยกล่าวถึงกฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง ของประเทศไทยในปัจจุบัน ช่องว่างทางกฎระเบียบ และกฎระเบียบที่เป็นอุปสรรค ในอนาคตรัฐบาลควรมีการทบทวนกฎหมายและระเบียบเพื่อการพัฒนาหรือส่งเสริมความคิดริเริ่มใหม่ ๆ เช่น บทบาทของรัฐบาลใน National Digital Trade Platform หรือการดำเนินการ ASEAN Single Window อย่างสมบูรณ์

         ทั้งนี้ หน่วยงานต่าง ๆ ที่เข้าร่วมประชุมได้มีข้อซักถาม ให้ข้อเสนอแนะและข้อคิดเห็นต่อผลการศึกษา ซึ่งทางธนาคารโลกได้ชี้แจงข้อมูลเพิ่มเติม นอกจากนี้ ทางสำนักงาน ก.พ.ร. ร่วมกับธนาคารโลกจะมีการจัดประชุม เรื่อง แนวทางการประเมิน Business Ready (B-READY) ซึ่งจะเป็นการชี้แจงแนวทางการประเมินใหม่และนำเสนอผลการศึกษาและข้อเสนอแนะจากโครงการศึกษาเพื่อขับเคลื่อนการอำนวยความสะดวกในการประกอบธุรกิจ ระยะที่ 3 (Doing Business Phase 3) ในด้าน ได้แก่ ด้านการชำระภาษี ด้านการค้าระหว่างประและด้านการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ ในวันที่ 26 พฤษภาคม 2566 ณ โรงแรมอนันตรา สยาม กรุงเทพฯ