นายปานปรีย์ พหิทธานุกร รองนายกรัฐมนตรี ให้นโยบายเดินหน้าพัฒนาระบบราชการ สู่การเป็นรัฐบาลดิจิทัล เร่งขับเคลื่อนนโยบาย “ผู้ว่า CEO”

แชร์หน้านี้


         เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2566 นายปานปรีย์ พหิทธานุกร รองนายกรัฐมนตรี ได้เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) นัดแรกเพื่อพิจารณาความก้าวหน้าในการขับเคลื่อนการดำเนินงานตามพระราชบัญญัติการปฏิบัติราชการทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2565 ให้ภาครัฐก้าวไปสู่รัฐบาลดิจิทัล และให้แนวทางในการขับเคลื่อนนโยบาย “ผู้ว่า CEO” รวมถึงข้อเสนอในการทำงานร่วมกันในรูปแบบเครือข่ายรัฐ-เอกชน-ประชาชน เพื่อแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5

         นายปานปรีย์ พหิทธานุกร รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า การประชุมวันนี้ เป็นครั้งแรกของรัฐบาลท่านนายกรัฐมนตรี เศรษฐา ทวีสิน ตนในฐานะประธาน ก.พ.ร. ได้ให้นโยบายในการขับเคลื่อนระบบราชการตามแนวทางของนโยบายรัฐบาล ทั้งการขับเคลื่อนรัฐบาลดิจิทัล การสร้างความเข้มแข็งในพื้นที่เพื่อการดูแลประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพและทั่วถึง การแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 ผ่านการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน ดังนี้

         1. การมุ่งหน้าสู่การเป็นรัฐบาลดิจิทัลเพื่อยกระดับการบริการประชาชน

             พระราชบัญญัติการปฏิบัติราชการทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2565 เป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนสู่รัฐบาลดิจิทัล ที่ทำให้ประชาชนสามารถติดต่อสื่อสารผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ภาครัฐได้ โดยขณะนี้ทุกกรม จังหวัด รัฐวิสาหกิจ และองค์การมหาชน มีช่องทางอิเล็กทรอนิกส์สำหรับประชาชนติดต่อสื่อสารแล้วครบทุกหน่วยงาน ซึ่งรัฐบาลจะเร่งผลักดันการให้บริการแบบเบ็ดเสร็จในรูปแบบ Single Window หรือ One Stop Service เพื่อให้ประชาชนสามารถติดต่อรับบริการจากภาครัฐได้สะดวกและรวดเร็วมากขึ้น

         2. การบูรณาการระดับพื้นที่เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการดูแลประชาชน ผ่านนโยบายผู้ว่า CEO

             นโยบายผู้ว่า CEO ของรัฐบาล มีเป้าหมายเพื่อให้ผู้ว่าราชการจังหวัดสามารถบริหารงานได้อย่างคล่องตัว ไม่ใช่เป็นการรวบอำนาจ แต่เป็นการกระจายอำนาจการตัดสินใจ เพื่อให้ผู้ว่าราชการจังหวัดสามารถทำงานกับหน่วยงานส่วนกลาง องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และทุกภาคส่วนได้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ส่งผลดีต่อประชาชนในระดับพื้นที่ ซึ่งสำนักงาน ก.พ.ร. ได้หารือกับกระทรวงมหาดไทยเพื่อที่จะจัดประชุมกับจังหวัดและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อสร้างความเข้าใจร่วมกันในการขับเคลื่อนนโยบายนี้ต่อไป

         3. การขับเคลื่อนแก้ไขปัญหาฝุ่นละออง PM2.5 ผ่าน Model การมีส่วนร่วมกับทุกภาคส่วนเพื่อความยั่งยืน ในการแก้ไขปัญหา

             ปัญหาฝุ่น PM 2.5 มีความซับซ้อนหลายมิติ และทวีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งรัฐบาลตระหนักถึงความเร่งด่วน ในการแก้ไขปัญหานี้และเห็นว่าภาครัฐไม่สามารถทำงานได้เพียงลำพัง ต้องอาศัยการมีส่วนร่วมกับทุกภาคส่วนให้มาร่วมคิด ร่วมทำ ตามแนวทาง Open Government ที่ผ่านมามีการดำเนินการทดลองมาแล้ว และในปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 จะทดลองรูปแบบการมีส่วนร่วม โดยให้ภาคเอกชนมาร่วมดำเนินการในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ 2 พื้นที่ ได้แก่ อุทยานแห่งชาติดอยสุเทพ - ปุย และ อำเภอแม่แจ่ม โดยผลจากการทดลองจะทำให้ทราบแนวทางการแก้ไขปัญหาที่ชัดเจนเป็นรูปธรรมและนำไปสู่การปฏิบัติและขยายผลต่อไป

         ทั้งนี้ การขับเคลื่อนเพื่อพัฒนาระบบราชการยังมีอีกหลายเรื่องที่รัฐบาลมุ่งดำเนินการ ไม่ว่าจะเป็นการปรับบทบาทภาครัฐ การถ่ายโอนงานให้ภาคเอกชนหรือภาคประชาสังคม การจัดโครงสร้างภาครัฐให้มีขนาดที่เหมาะสม ฯลฯ ซึ่ง ก.พ.ร. จะได้ดำเนินการอย่างต่อเนื่องให้เกิดผลต่อไป