นายปานปรีย์ พหิทธานุกร รองนายกรัฐมนตรี ให้นโยบายเดินหน้าพัฒนาระบบราชการเพื่อยกระดับการอำนวย ความสะดวกแก่ประชาชน ในทุกองคาพยพของหน่วยงานภาครัฐทั้งกระทรวง กรม จังหวัด และองค์การมหาชน

แชร์หน้านี้



         เมื่อวันที่ 22 ธันวาคม 2566 นายปานปรีย์ พหิทธานุกร รองนายกรัฐมนตรี ได้เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) เพื่อพิจารณาร่างพระราชบัญญัติการอำนวยความสะดวกในการพิจารณาอนุญาตและการให้บริการแก่ประชาชน ซึ่งเป็นการปรับปรุงจากกฎหมายฉบับเดิม เพื่อปฏิรูปการให้บริการของภาครัฐ ยกระดับการอำนวยความสะดวกแก่ประชาชนและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ

         นายปานปรีย์ พหิทธานุกร รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า การประชุมวันนี้ ตนในฐานะประธาน ก.พ.ร. ได้ให้นโยบาย ในการขับเคลื่อนระบบราชการเพื่อยกระดับการอำนวยความสะดวกแก่ประชาชนตามนโยบายรัฐบาล ซึ่งพระราชบัญญัติการอำนวย ความสะดวกในการพิจารณาอนุญาตและการให้บริการแก่ประชาชนที่อยู่ระหว่างเสนอปรับปรุงฉบับนี้ จะเป็นกลไกสำคัญที่จะปฏิรูป การให้บริการของภาครัฐที่มุ่งเน้นประชาชนเป็นศูนย์กลาง โดยประชาชนจะได้ประโยชน์ เช่น การได้รับบริการที่เร็วขึ้นผ่านช่องทาง Fast Track การลดขั้นตอนในการขออนุญาตประกอบกิจการผ่านระบบการอนุญาตหลัก (Super License) ที่สามารถขอใบอนุญาตหลักเพียงใบเดียวในการประกอบกิจการ และลดภาระของประชาชนโดยวิธีการชำระค่าธรรมเนียมแทนการต่ออายุใบอนุญาต ซึ่งรัฐบาลจะเร่งผลักดันให้ร่างพระราชบัญญัติการอำนวยความสะดวกฯ ฉบับนี้มีผลใช้บังคับโดยเร็ว เพื่อให้เป็นกลไกขับเคลื่อนให้ประชาชนได้รับการบริการที่สะดวกขึ้น รวดเร็วขึ้น ลดภาระค่าใช้จ่ายและลดการใช้ดุลพินิจของเจ้าหน้าที่ในทุกขั้นตอน ซึ่งจะเป็นการลดช่องทางการทุจริต

         นอกจากนี้ นายปานปรีย์ พหิทธานุกร รองนายกรัฐมนตรี ได้เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการพัฒนาและส่งเสริมองค์การมหาชน (กพม.) และการประชุมคณะกรรมการตรวจสอบและประเมินผลภาคราชการ (ค.ต.ป.) นัดแรก เพื่อให้นโยบาย การทำงานขององค์การมหาชนในการขับเคลื่อนนโยบายรัฐบาล พร้อมทั้งให้แนวทางในการตรวจสอบและประเมินผลภาคราชการ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชนต่อการปฏิบัติงานของส่วนราชการ รวมถึงแก้ไขปัญหาเชิงบูรณาการระหว่างหน่วยงานของรัฐ

         นายปานปรีย์ ได้กล่าวเพิ่มเติมว่า นอกจากการประชุม ก.พ.ร. แล้ว การประชุมวันนี้ ยังมีการประชุม กพม. และ ค.ต.ป. ซึ่งเป็นครั้งแรกของรัฐบาล นายกรัฐมนตรี นายเศรษฐา ทวีสิน ตนในฐานะประธาน กพม. ได้เน้นย้ำว่าองค์การมหาชน เป็นหน่วยงานของรัฐที่มีความสำคัญเป็นอย่างมากในการขับเคลื่อนนโยบายรัฐบาล ซึ่งมีหลายองค์การมหาชนที่เป็นกลไกหลักในการดำเนินการ เช่น

         1. ด้านการปรับปรุงหน่วยงานภาครัฐให้เป็นรัฐบาลดิจิทัล ช่วยสนับสนุนนโยบายสร้างระบบราชการให้มีประสิทธิภาพ ทำงานตอบโจทย์ประชาชน ปรับบริการให้เป็นมาตรฐานดิจิทัล ซึ่งองค์การมหาชนหลายแห่งดำเนินการเรื่องนี้ได้เป็นอย่างดี เช่น สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ สถาบันข้อมูลขนาดใหญ่ (องค์การมหาชน) สำนักงานคณะกรรมการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล

         2. ด้าน Soft Power ที่จะใช้โอกาสของประเทศไทยในด้านต่าง ๆ มาสร้างรายได้ให้ประเทศ เช่น การดึงงาน Event ระดับโลกมาจัดในประเทศไทย การผลักดันให้เมืองท่องเที่ยวไทยเป็นเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ การสนับสนุนการออกแบบให้เป็น New Economy เพื่อยกระดับและพัฒนาขีดความสามารถด้านความคิดสร้างสรรค์ของคนไทยให้สร้างมูลค่าและสร้างรายได้เพื่อพัฒนาขีดความสามารถของประเทศ โดยมีองค์การมหาชนหลายแห่งที่สามารถช่วยสนับสนุนและขับเคลื่อนงาน เช่น สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) สำนักงานส่งเสริมการจัดการประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล

         ในส่วนของ ค.ต.ป. ได้ให้แนวทางในการตรวจสอบและประเมินผลภาคราชการ เพื่อให้ได้ข้อเสนอแนะที่เป็นประโยชน์ในการนำนโยบายและมาตรการของรัฐบาลไปสู่การปฏิบัติให้มีประสิทธิภาพ ซึ่งการตรวจสอบและประเมินผลจะช่วยให้มองเห็นถึงปัญหาและข้อบกพร่องในภาครัฐ ช่วยให้เห็นถึงโอกาสในการปรับปรุงและพัฒนาในด้านต่าง ๆ ของประเทศ และนำมาซึ่งข้อเสนอแนะที่สำคัญ เช่น

         1. การบริหารจัดการน้ำเพื่อแก้ไขปัญหาภัยพิบัติ โดยส่งเสริมให้จังหวัดมีบทบาทเป็นศูนย์ประสานงานระหว่างราชการส่วนกลางกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) และชุมชนในการป้องกัน การเผชิญเหตุ และบรรเทาฟื้นฟูจากภัยพิบัติด้านน้ำ อย่างมีประสิทธิภาพและทันการณ์ รวมถึงติดตามการบูรณาการฐานข้อมูลด้านการบริหารจัดการน้ำเพื่อแก้ไขปัญหาภัยพิบัติ รวมทั้งเร่งรัดให้มีการจัดทำระบบศูนย์ข้อมูลทรัพยากรน้ำระดับลุ่มน้ำ

         2. การสร้างระบบนิเวศเพื่อขับเคลื่อนการเป็นรัฐบาลดิจิทัล โดยผลักดันให้เกิดการประกาศ และกำหนดให้จัดทำชุดข้อมูลสำคัญของหน่วยงาน (Master Data) เพื่อการเปิดเผยข้อมูลภาครัฐ (Open Data) ที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ทั้งการบริหารงานและการให้บริการภาครัฐ และเร่งผลักดันให้เกิดบริการประชาชนด้วยระบบดิจิทัลได้แบบ End-to-End Process

         3. การบริหารจัดการสินทรัพย์จากงบประมาณในจังหวัดและกลุ่มจังหวัด โดยเร่งรัดให้กระทรวงมหาดไทยมอบหมายจังหวัดและกลุ่มจังหวัดดำเนินการบริหารจัดการสินทรัพย์จากงบประมาณในจังหวัดและกลุ่มจังหวัดที่คงค้างในภาพรวม สินทรัพย์
คงค้างประเภทถนนและสินทรัพย์คงค้างประเภทโรงฆ่าสัตว์ เพื่อให้การบริหารจัดการสินทรัพย์ของจังหวัดมีประสิทธิภาพ สามารถ
ใช้ประโยชน์ได้อย่างต่อเนื่องและยั่งยืน

         และด้านอื่น ๆ เช่น การช่วยเหลือกลุ่มเปราะบางในภาวะวิกฤตให้เข้าถึงบริการภาครัฐเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ การท่องเที่ยว เชิงสร้างสรรค์และวัฒนธรรมอย่างยั่งยืน การเพิ่มโอกาสของผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดเล็กและเศรษฐกิจฐานราก

         ทั้งนี้ การขับเคลื่อนเพื่อพัฒนาระบบราชการให้สัมฤทธิ์ผลตามนโยบายรัฐบาลที่กำหนดไว้นั้น จำเป็นต้องมีการบูรณาการ การทำงานในหน่วยงานของรัฐทุกประเภท ตลอดจนกลไกการตรวจสอบต้องมีความสอดคล้องและสามารถสะท้อนประสิทธิภาพ การดำเนินงานของรัฐได้อย่างแท้จริง ซึ่ง ก.พ.ร. กพม. และ ค.ต.ป. จะเป็นกลไกที่ทำงานร่วมกันและดำเนินการอย่างต่อเนื่องให้เกิดผลต่อไป